ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ภูเก็ต (174) จ.เลย (112) จ.ปราจีนบุรี (108) จ.เชียงราย (77) จ.สมุทรสาคร (43) จ.ราชบุรี (40)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,706 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,243 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่เพื่อหารือร่วมกับนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทม ผู้ใหญ่บ้านนาสามัคคี เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน บ้านนาสามัคคี ตำบลนาทม อำเภอนาทม จังหวัดนครพนม เนื่องจากน้ำประปาภายในหมู่บ้านไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค โดยทางสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 (อุดรธานี) ลงพื้นที่สำรวจความเหมาะสมและได้นำเสนอให้ทางท้องถิ่นจัดทำโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหา
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 9–11 ก.ค. 66 บริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร และนครพนม ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง ตรัง กระบี่ พังงา สตูล และพัทลุง
กอนช.ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 2 มิติ และสอดคล้องกับสถานการณ์ ร่วมกันบริหารจัดการน้ำระหว่างพื้นที่ โดยใช้ระบบชลประทานในการรับน้ำและระบายน้ำให้เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน อย่างเป็นระบบและเต็มศักยภาพ
เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมกันบูรณาการในการเตรียมพร้อมความรับมือสถานการณ์น้ำ ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด สู่ 6 แนวทางปฏิบัติของกรมฯ อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำรวมทั้งขุดลอกคลองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำทำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ได้ทำการปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้เกษตรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนกันยายน พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 66 ให้ทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำหลากรวมทั้งสถานการณ์เอลนีโญ อย่างมีประสิทธิภาพ