สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา (150) จ.พิษณุโลก (134) จ.กาญจนบุรี (113) จ.จันทบุรี (60) จ.สุพรรณบุรี (40) และ จ.เลย (36)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,750 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,289 ล้าน ลบ.ม. (51%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำตื้นให้กับประชาชน แก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น 150 ครัวเรือน 372 คน ในพื้นที่ บ.นาไร่เดียว ม.5 ต.สองห้อง อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ และสนับสนุนรถขุดตัก รถบรรทุกเทท้าย ร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ เก็บกำจัดวัชพืช เพื่อเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำไว้ใช้และสามารถนำน้ำไปใช้อุปโภคและทำการเกษตรได้สะดวก พื้นที่สระน้ำสาธารณะประโยชน์ บ้านตากแว้งล่าง ม.7 ต.บ่อพลอย อ.บ่อไร่ จ.ตราด

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 9–11 ก.ค. 66 บริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร และนครพนม ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง ตรัง กระบี่ พังงา สตูล และพัทลุง

สนทช.ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก

• สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 2 ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และการเตรียมการรองรับสถานการณ์เอลนีโญ โดยนำเสนอ 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ สถานการณ์ฝนในภาคกลาง คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน ปี 2566 และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ปี 2566 ทั้งนี้ กรมชลประทานได้นำเสนอข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ แผน/ผลการดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 แผนป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ (เตรียมการก่อนฤดูฝน-ฤดูแล้ง) และการเตรียมความพร้อมรับผลกระทบจากปรากฏกรณ์เอลนีโญ รวมถึง ปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา และแผนเตรียมการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและระยะยาวของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางเลน พร้อมทั้งลงพื้นที่ ณ ประตูระบายน้ำคลองบางหลวง และตลาด ร.ศ. 112 เพื่อตรวจสอบความพร้อมใช้งาน

• สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 4 เข้าร่วมประชุมหารือการจัดหาน้ำต้นทุนจากขุมน้ำ/แหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันมีน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เชิญผู้แทนและเจ้าของขุมเหมือง จำนวน 10 ขุมเหมือง เพื่อหารือขอใช้น้ำจากขุมเหมืองเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปา โดยผู้แทนและเจ้าของขุมเหมืองให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และมีมติเห็นชอบให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาภูเก็ต จัดทำรายละเอียดในการขอซื้อน้ำจากขุมเหมืองเอกชน ในส่วนของขุมเหมืองที่อยู่ในพื้นที่ของรัฐ ได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานเพื่อทำการสำรวจตรวจสอบที่ดิน และการขอใช้ที่ดินและน้ำดิบต่อไป