กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2566 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 8 – 11 ก.ค. 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอโขงเจียมและสิรินธร) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร และหว้านใหญ่) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม และธาตุพนม) ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง (อำเภอนิคมพัฒนา เขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่และเมืองตราด) และภาคใต้ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตรัง(อำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ ย่านตาขาว เมืองตรัง และห้วยยอด) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา) จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และกะปง) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)
2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก
3. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณาการหน่วยงานทั่วประเทศ เร่งตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของคัน / ทำนบ / พนังกั้นน้ำ และเดินหน้ากำจัดผักตบชวาและวัชพืช เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและปริมาณฝนที่จะตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งในหลายพื้นที่
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สทนช. ได้เข้าร่วมการประชุมสภาน้ำแห่งเอเชีย หรือ (Asia Water Council: AWC) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 7 กรกฎาคม 2566 ณ สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านน้ำของประเทศสมาชิกต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สาธารณรัฐเกาหลี จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในที่ประชุม 4th General Assembly ของสภาน้ำแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ประเทศสมาชิกได้เลือก สทนช. ให้เป็นคณะกรรมการบริหารของสภาน้ำแห่งเอเชีย (Board of Council) อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเสนอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งเป็นภารกิจของ สทนช. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลัก SDG6 การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัยของประเทศไทย
5. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ดังนี้ จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา)