สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.นราธิวาส (109) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (88) จ.พะเยา (71) จ.ระยอง (60) จ.ชัยภูมิ (49) จ.สุพรรณบุรี (40)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,358 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,357 ล้าน ลบ.ม. (51%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 8–11 ก.ค. 66 บริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร และนครพนม ภาคตะวันออก จ.ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง ตรัง กระบี่ พังงา สตูล และพัทลุง

กรมเจ้าท่า ขุดลอกร่องน้ำคลองหนองมวง อ.บางกล่ำ จ.สงขลา ความลึกก้นร่องน้ำ 2.00 เมตร ความกว้างก้นร่องน้ำ 15 และความยาว 800 เมตร ช่วยส่งเสริมอาชีพประมงในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และบำรุงรักษาร่องน้ำลดสิ่งกีดขวางเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย ลดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ โดยประชาชนจะได้รับประโยชน์จำนวนประมาณ 150 ครัวเรือนจากการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก และการใช้ร่องน้ำทำอาชีพเกษตรกร จำนวน 50 ครัวเรือน

นายกรัฐมนตรีติดตามการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-แล้ง และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการประเมินสถานการณ์น้ำของประเทศ
ซึ่ง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่าภาพรวมปริมาณฝนทั้งประเทศ ต่ำกว่าค่าปกติ 25% ซึ่งที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ยังมีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย โดยฝนจะตกในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขณะที่สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 40,808 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุรวมทั้งหมด ในปริมาณนี้เป็นน้ำใช้การ 16,698 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 29% ซึ่งปัจจุบันมีการใช้น้ำนับจากช่วงต้นฤดูฝนไปแล้ว 10% โดยภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำต้นทุนน้อยที่สุดในขณะนี้ และการจัดสรรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ให้แก่พื้นที่ต่างๆ แล้ว 6,604 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 42% ของแผนทั้งหมด โดยจัดสรรน้ำภาคเหนือมากที่สุด โดยจัดสรรไปแล้ว 54% ของแผน

กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำแล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน ตามปริมาณฝนคาดการณ์ ONE MAP พบว่า มีพื้นที่ที่มีภาวะความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางของประเทศ และยังคงมีพื้นที่ ซึ่งเป็นแนวรับลมที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนัก โดยในเดือน ก.ค. 66 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในบริเวณชายขอบของประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน บริเวณ จ.เชียงราย พะเยา และน่าน พื้นที่บริเวณชายขอบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ภาคกลาง บริเวณ ลุ่มน้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ และพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ระนอง ลงไป และพบพื้นที่เสี่ยงแล้ง เช่น จ.จันทบุรี และ จ. เพชรบุรี เป็นต้น จึงขอย้ำให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ผ่านทางช่องทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน National Thai water เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที