กรมหม่อนไหมเปิดเวทีประชุมวิชาการหม่อนไหม ประจำปี 2566

นายประกอบ เผ่าพงศ์ อธิบดีกรมหม่อนไหม ประธานเปิดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2566 กล่าวว่า กรมหม่อนไหม มีภารกิจที่สำคัญในการดูแลงานด้านหม่อนไหมทั้งระบบของประเทศไทย งานด้านวิชาการเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญ ที่ต้องมีการศึกษา วิจัย ค้นคว้า ทดลอง และพัฒนาด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อให้ได้องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหม่อนไหมของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก

สำหรับการประชุมวิชาการหม่อนไหมในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 – 7 กรกฎาคม 2566 เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานวิชาการและนวัตกรรมด้านหม่อนไหมที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และดำเนินการแล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา ทั้งผลงานวิชาการที่ดำเนินการโดยบุคลากรของกรมหม่อนไหม และผลงานวิชาการที่บุคลากรของกรมหม่อนไหมร่วมดำเนินการกับหน่วยงานอื่น โดยคัดเลือกจากผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการเกษตรและในเชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนางานด้านหม่อนไหมให้ครอบคลุมทุกสาขา สร้างมูลค่าและรายได้ให้แกเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหมของประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นักวิชาการจากกรมหม่อนไหม หน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง สถาบันการศึกษา เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม รวมประมาณ 100 คน

ในประชุมในครั้งนี้ มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “การขับเคลื่อน Carbon footprint สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์หม่อนไหม” โดย ดร.เอกพร นวภานันท์ สถาบันวิจัยพหุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการนำเสนอผลงานวิจัยหลายเรื่อง อาทิ การปรับปรุงพันธุ์ไหมชนิดฟักออก ปีละ 2 ครั้ง ลูกผสมเดี่ยวรังสีเหลืองจากสายพันธุ์น่าน การเปรียบเทียบพันธุ์ไหมไทยลูกผสมที่เหมาะสมในการผลิตแผ่นใยไหมเพื่อผลิตผ้าห่มใยไหม เครื่องตัดแต่งกิ่งหม่อนแบบใช้ต้นกำลังจากรถฟาร์มแทรกเตอร์ การออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ในกระบวนการทอผ้าไหมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ และพัฒนาไหมอีรี่เพื่อการใช้ประโยชน์ เป็นต้น ซึ่งกรมหม่อนไหมจะนำผลงานวิจัยมาพัฒนาสู่การใช้งานจริง พร้อมถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหม รวมถึงประชาชนที่สนใจได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป.