สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

1.1 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 7/2566 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ติดตามปริมาณฝนตกบริเวณต้นน้ำลุ่มน้ำยัง อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ และสถานีวัดน้ำ E.92 บ้านท่างาม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ณ วันที่ 5 ก.ค. 2566 มีระดับน้ำ ต่ำกว่าระดับตลิ่งอยู่ – 0.75 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเอ่อล้น สูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณลำน้ำยัง ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตพนังกั้นน้ำ ริมสองฝั่งของลำน้ำยัง บริเวณอำเภอเสลภูมิ และโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ดในช่วงวันที่ 6 – 7 ก.ค. 2566

1.2 ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2566 ลงวันที่ 5 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมือง ที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 8 – 11 ก.ค. 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอโขงเจียมและสิรินธร) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอเมืองมุกดาหาร และหว้านใหญ่) จังหวัดนครพนม (อำเภอเมืองนครพนม และธาตุพนม) ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง (อำเภอนิคมพัฒนา เขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่และเมืองตราด) และภาคใต้ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตรัง(อำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ ย่านตาขาว เมืองตรัง และห้วยยอด) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา) จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วป่า และกะปง) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า มะนัง ท่าแพ และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)

2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยและอ่าวไทย ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง

3. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน เตรียมการรับมือฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยังตอนบน โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านลำน้ำยังที่สถานี E.92 อำเภอเสลภูมิ จะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคาดว่าน้ำอาจจะล้นตลิ่งได้ จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน รวมถึงการเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก ความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที