สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.กาฬสินธุ์ (105) จ.เชียงใหม่ (65) จ.พระนครศรีอยุธยา (51) จ.สตูล (48) จ.กาญจนบุรี (41) และ จ.ชลบุรี (16)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,812 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,380 ล้าน ลบ.ม. (51%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วง 1-3 วัน ได้แก่ อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร และ อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ

กรมชลประทาน ปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 อย่างเคร่งครัด โดยให้มีการจัดสรรน้ำตามรอบเวรอย่างประณีต พร้อมสำรวจความมั่นคงของอาคาร คันดิน ประตูระบายน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำจุดเสี่ยงทั่วประเทศ พร้อมดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กอนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงท่วม-แล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน เน้นย้ำหน่วยงานกำหนดจัดรอบเวรการรับน้ำเพื่อจัดสรรให้ทั่วถึงทุกพื้นที่

กอนช. ประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 66 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย กอนช. ได้จำลองปริมาณน้ำจาก ปี 62 เพื่อใช้คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การของอ่างฯ ขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 พบว่า จะมีปริมาณน้ำใช้การ 26,071 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 55% ซึ่งน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้ว และคาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 จะมีอ่างฯ ขนาดใหญ่ จำนวน 21 แห่ง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงน้ำน้อย จึงจำเป็นจะต้องติดตามเฝ้าระวังการใช้น้ำ รวมทั้งต้องติดตามในเรื่องแผนการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด โดยจะต้องระบายน้ำให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ และใช้เสริมจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเท่านั้น เพื่อให้มีน้ำสำรองกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำ โดยเฉพาะในอ่างฯ ขนาดใหญ่ให้ได้มากที่สุด

จากการจัดสรรน้ำในเกณฑ์ปริมาณน้ำน้อยจะส่งผลให้ระดับน้ำในคลองต่าง ๆ น้อยตามไปด้วย จึงต้องมีการจัดรอบเวรการรับน้ำ โดยแบ่งออกเป็น ต้นคลอง กลางคลอง และปลายคลอง เพื่อให้สามารถกระจายน้ำให้แก่ทุกพื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมิน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำแล้ง ล่วงหน้า 6 เดือน ตามปริมาณฝนคาดการณ์ ONE MAP พบว่า มีพื้นที่ที่มีภาวะความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลางของประเทศ และ ยังคงมีพื้นที่ซึ่งเป็นแนวรับลมที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนตกหนัก โดยในเดือน ก.ค. 66 พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในบริเวณชายขอบของประเทศ ได้แก่ พื้นที่ภาคเหนือตอนบน บริเวณชายขอบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก และพื้นที่ภาคใต้