รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 6/2566
กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคตะวันออก จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่ และเมืองตราด) และภาคใต้ จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดตรัง (อำเภอหาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ เมืองตรัง และห้วยยอด) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า และควนกาหลง) จังหวัดพัทลุง (อำเภอป่าบอน)

2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566

2.1 กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือ โดยติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และกำหนดจุดเสี่ยงพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก พิจารณาบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุม เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

2.2 กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้จังหวัดที่มีลำน้ำสายหลักที่พบปริมาณผักตบชวาเป็นจำนวนมาก เร่งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมการปกครอง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสริมสร้างพลังภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ร่วมกันสร้างความรับรู้ความเข้าใจและพลังความร่วมมือในการช่วยกันกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในคลองซอย รวมถึงตามลำคลองแม่น้ำสาขาเล็ก ๆ ในพื้นที่ เพื่อกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ไม่ให้ไหลลงมาสู่แม่น้ำสายหลัก

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามความพร้อมของอาคารชลศาสตร์ พร้อมระบบกระจายน้ำ หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยปริก อำเภอดวง จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยปริก ตรวจสอบแล้วพบว่า ลักษณะของโครงการเป็นโครงการระบบกระจายน้ำ ประกอบด้วย อาคารโรงสูบน้ำ ระบบกรองน้ำ หอถังสูง และระบบส่งน้ำดิบ ซึ่งไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพ ชำรุดทรุดโทรม ในการนี้ สทนช. ได้ให้คำแนะนำในการประสานงานสำนักทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำและคำปรึกษาทางด้านเทคนิควิชาการ รวมทั้งให้ อบต. ห้วยปริก ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำจากโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟู ในการใช้งาน ดูแล และบำรุงรักษาระบบต่อไป