สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 2 ก.ค. 66 เวลา 7.00 น

ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พังงา (216) จ.ตราด (135) จ.อุตรดิตถ์ (114) จ.สกลนคร (87) จ.กาญจนบุรี (70) จ.นนทบุรี (40)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,809 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,418 ล้าน ลบ.ม. (51%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรมชลประทาน ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ด้วยการซ่อมแซมสายไฟฟ้าสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโนนฟากเลย ที่ถูกตัดขโมยสายไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันสามารถเดินเครื่องสูบน้ำ ส่งน้ำไปช่วยเหลือเกษตรกรได้แล้ว ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศ ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและเสี่ยงดินถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทันในช่วงวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2566 ดังนี้

1. ภาคตะวันออก จ.ระยอง (อ.เขาชะเมา แกลง และบ้านค่าย) จ.จันทบุรี (อ.ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ มะขาม และแก่งหางแมว) จ.ตราด (อ.บ่อไร่ และเมืองตราด)

2. ภาคใต้ จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง และกะเปอร์) จ.ตรัง (อ.หาดสำราญ กันตัง วังวิเศษ เมืองตรัง และห้วยยอด) จ.สตูล (อ.ทุ่งหว้า และควนกาหลง) จ.พัทลุง (อ.ป่าบอน)

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน

2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ลอกท่อระบายน้ำ และบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที