แผ่นดินไหวที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนทดน้ำพญาแมน และอาคารระบายน้ำ

วันที่ 29 มิถุนายน 2566 เวลา 00.17 น. จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา เกิดแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางอยู่บริเวณ ตำบลไผ่ล้อม อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก ที่ละติจูด 16.558 องศาเหนือ ลองจิจูด 100.368 องศาตะวันออก ขนาด 4.5 ความลึก 5 กิโลเมตร ได้รับแจ้งรู้สึกสั่นไหวบริเวณ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดกำแพงเพชร

นายวรวุฒิ เนียมน้อย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบำรุงแดน มอบหมายให้ นายทรงวุธ มณีวงษ์ หัวหน้าฝ่ายช่างกล เข้าตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทาน และทำการทดสอบระบบการ เปิด-ปิดบานระบายน้ำล้น (spillway) และอาคารระบายลำน้ำเดิม (river outlet) ของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเบื้องต้นสามารถใช้งานได้ตามปกติ ณ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ทั้งนี้ อาคารและโครงสร้างเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว อาคารและระบบต่างๆ ไม่ได้รับความเสียหายสามารถใช้งานได้ตามปกติ

ณ เขื่อนทดน้ำพญาแมน ตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก นายวรวุฒิ เนียมน้อย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบำรุงแดน มอบหมายให้ นายมงคล ต่ำจันทร์ หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 เข้าตรวจสอบอาคารเขื่อนทดน้ำพญาแมน และทำการทดสอบระบบเปิด-ปิด ทั้งนี้ เขื่อนทดน้ำพญาแมนไม่ได้รับความเสียหายอยู่ในสภาพปกติและใช้งานได้ตามปกติ

ในเขตพื้นที่ ตำบลวังทอง, ตำบลวังพิกุล อำเภอวังทอง และ ตำบลสมอแข อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นายวรวุฒิ เนียมน้อย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบำรุงแดน มอบหมายให้ นายสิทธิพันธ์ ยิ่งสกุล หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 ออกสำรวจอาคารระบายน้ำ LMC 31+999-59+720 ทั้งนี้ อาคารระบายน้ำ LMC 31+999-59+720 ไม่ได้รับความเสียหายอยู่ในสภาพปกติและใช้งานได้ตามปกติ

ในเขตพื้นที่ ตำบลบ้านป่า อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นายวรวุฒิ เนียมน้อย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแควน้อยบำรุงแดน มอบหมายให้ นายอภิชชัยวัฒน์ คำยอด หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 ออกตรวจสอบอาคาร ทรบ.ปากคลอง 2R-LMC และตรวจสอบระบบ เปิด-ปิด บานอาคารทดน้ำ กม.22+120 ทั้งนี้ อาคาร ทรบ.ปากคลอง 2R-LMC และระบบ เปิด-ปิด บานอาคารทดน้ำ กม.22+120 ไม่ได้รับความเสียหายอยู่ในสภาพปกติและใช้งานได้ตามปกติ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวไว้ด้วยค่าที่สูงสุดของความเสี่ยงในพื้นที่ประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบและติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อนำมาประเมินเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจและเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อนตลอดเวลา