สธ. เผย ครม. มีมติรับร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนกเป็นอุดมศึกษาในสังกัด สธ. แห่งแรก

กระทรวงสาธารณสุข เผยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ…. เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกระทรวงสาธารณสุขแห่งแรก เพื่อให้การผลิตกำลังคนด้านสาธารณสุขมีความสอดคล้องกับแผนของกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการผลิตบุคลากร สร้างงานวิจัยแก้ไขปัญหาชุมชน ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการราชกฤษฎีกา ก่อนเสนอ สนช. ออกเป็นกฎหมายต่อไป

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ…. ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ…. เพื่อขอจัดตั้งสถาบันพระบรมชนกเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การผลิตกำลังคนด้านสาธารณสุขมีความสอดคล้องกับแผนของกระทรวงสาธารณสุข มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรการศึกษา คณาจารย์ สื่อ อุปกรณ์และเทคโนโลยีการศึกษา การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา โดยเบื้องต้นจะเปิดสอน 2 คณะคือ คณะพยาบาลศาสตร์และคณะสหเวชศาสตร์ ผลิตงานวิจัยที่นำไปใช้ในการแก้ปัญหาสุขภาพในชุมชน รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรการอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใน 12 เขตบริการสุขภาพและ กทม. ตอบสนองความต้องการของประชาชนและชุมชนให้เป็นวงกว้างมากยิ่งขึ้น

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการราชกฤษฎีกา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ สถาบันพระบรมราชชนกเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจหลักในการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านสุขภาพ มีวิทยาลัยในสังกัดกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศจำนวน 39 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรด้านสุขภาพได้ 5,000-8,000 คนต่อปีการศึกษา เมื่อ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ สถาบันพระบรมราชชนกจะมีสถานะเป็นนิติบุคคล และเป็นสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะทางที่มีอิสระทางวิชาการ สำหรับบุคลากรของสถาบันพระบรมราชชนกหลังตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาแล้ว จากการหารือกับ ก.พ.ร. คือ ไม่มีการเพิ่มกำลังคน แต่จะโอนกิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้าง อัตรากำลัง งบประมาณ และรายได้ของสถาบันพระบรมราชชนก ยกเว้น วิทยาลัยนักบริหารสาธารณสุขและแก้วกัลยาสิกขาลัย ไปเป็นของสถาบันพระบรมราชชนก โดยรัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวนเท่าเดิม แต่มีวิธีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น