สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำบริเวณ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี และอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำและการส่งน้ำ

2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเล
อันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยประกอบกับในช่วงวันที่ 26 – 29 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และภาคใต้ มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือด้านตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาจัดงานวันสถาปนา ครบรอบ 81 ปี ณ หอประชุมกรมอุตุนิยมวิทยา ถนนสุขุมวิท เขตบางนา กรุงเทพฯ โดยในงานมีการเสวนาวิชาการ “การส่งผ่านสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ จากรุ่น สู่รุ่น และระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับทุกคน” เพื่อมาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ สร้างการรับรู้แก่คนรุ่นใหม่ให้เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศอย่างยั่งยืน ปิดท้ายด้วยกิจกรรมถามตอบประเด็นร้อนเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาที่กำลังอยู่ในความสนใจ เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องเด่นประเด็นร้อนเกี่ยวกับอุตุนิยมวิทยาที่สังคมให้ความสนใจในขณะนี้ โดยถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ก “กรมอุตุนิยมวิทยา” โดยก้าวต่อไปนับจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาในฐานะสมาชิกขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO : World Meteorological Organization) จะร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการด้านระบบการเตือนภัยในโครงการที่เรียกว่า Early Warning for All ภายใต้กรอบการทำงานของ WMO ให้ก้าวไปข้างหน้าและประสบความสำเร็จภายใน 5 ปี โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย พัฒนาความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในภูมิภาค ทั้งระบบการตรวจอากาศ การสื่อสารข้อมูลอุตุนิยมวิทยา การพยากรณ์อากาศ การพยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน การคาดหมายสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ และการวิจัยในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านระบบเตือนภัยล่วงหน้าในประเทศไทยมีความที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาความเสียหายและการลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของประเทศไทย และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อีกด้วย