กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวง เตรียมรับมือฝนทิ้งช่วง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 30 จังหวัด (จ.ลำปาง จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก จ.นครสวรรค์ จ.สุโขทัย จ.แพร่ จ.อุทัยธานี จ.ชัยนาท จ.ลพบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี จ.กาฬสินธุ์ จ.อุดรธานี จ.มหาสารคาม จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.สุรินทร์ จ.ยโสธร จ.อำนาจเจริญ จ.ศรีสะเกษ จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ปราจีนบุรี จ.สระแก้ว จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์) และเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 15 แห่ง (อ่างเก็บน้ำแม่จาง อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว อ่างเก็บน้ำกุดตาเพชร อ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำวชิราลงกรณ อ่างเก็บน้ำลำปาว อ่างเก็บน้ำบ้านทำนบ อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ่างเก็บน้ำห้วยเกษม อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ประจันต์ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก)
2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำว่า กอนช. มีการประชุมเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นยาวไปถึงปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในปี 2566 และ 2567 จะคล้ายกับสถานการณ์น้ำ เมื่อปี 2562 ซึ่งเกิดสภาวะเอลนีโญต่อเนื่องจนถึงปี 2563 และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำสำรองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยใช้ข้อมูลในปี 2563 เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 2567 สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 2 ปี โดยมุ่งกักเก็บน้ำต้นทุนส่งต่อไปยังปี 2567 ให้ได้มากที่สุด และ ได้มีการติดตามสถานการณ์พื้นที่ประสบภัยแล้ง ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยหากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ สามารถแจ้งข้อมูลเข้ามาได้ที่เพจเฟซบุ๊คของ สทนช. โดยจะมีการติดตามตรวจสอบและประสานงานให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด