สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 21 มิ.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.บุรีรัมย์ (52) จ.พิจิตร (38) จ.ตราด (38) กรุงเทพมหานคร (35) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (24) จ.พัทลุง (17)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,790 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 37,379 ล้าน ลบ.ม. (52%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ไม่พบพื้นที่เสี่ยง

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 6 นาย พร้อมรถตรวจการณ์ จำนวน 1 คัน ดำเนินการสำรวจ และติดตามระดับน้ำในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อเตรียมความพร้อมในการแจ้งเตือนภัย และเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันเหตุการณ์ อีกทั้งช่วยลดความเสี่ยง และความเสียหายทรัพย์สินของประชาชน ณ ประตูระบายน้ำดอยน้อย ต.ดอยน้อย อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบของสภาวะเอลนีโญ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นยาวไปถึงปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำในปี 66 และ 67
ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนต่างๆ รวมถึงแหล่งน้ำสำรองในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยใช้ข้อมูลในปี 63 เพื่อประเมินปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พ.ย. 67 สำหรับใช้ในการบริหารจัดการน้ำระยะยาว 2 ปี โดยมุ่งกักเก็บน้ำต้นทุนให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำมีปริมาณลดลง ต้องเน้นย้ำเรื่อง การรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรได้เข้าใจสถานการณ์น้ำทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก จนถึงการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมและรักษาระบบนิเวศ โดยขอให้เกษตรกรติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อลดความเสี่ยงของการเพาะปลูกจากฝนทิ้งช่วง ทั้งนี้ กรมชลประทานยังได้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวอายุสั้นและเก็บเกี่ยวได้เร็ว รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาแหล่งน้ำของตนเองเพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงด้วย

สำหรับพื้นที่ประสบภัยแล้ง ตามประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สทนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์และประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนสามารถแจ้งข้อมูลเข้ามาได้ที่เพจเฟซบุ๊คของ สทนช. หรือแจ้งไปยัง สทนช.ทั้ง 4 ภาค โดยจะมีการติดตามตรวจสอบและประสานงานให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาโดยเร็วที่สุด