สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 มิ.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.เลย (77) จ.พะเยา (54) จ.จันทบุรี (42) จ.นครศรีธรรมราช (41) จ.กาญจนบุรี (34) จ.พระนครศรีอยุธยา (16)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,580 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 37,168 ล้าน ลบ.ม. (52%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นแม่น้ำแม่บางปะกงค่าออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ ตรวจสอบ และบำรุงรักษาสถานีโทรมาตร (Telemetering) ลุ่มน้ำแม่กลอง และระบบส่งสัญญาณภาพ (CCTV) จำนวน 8 สถานี ในเขตพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และราชบุรี เพื่อรองรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 มาตราการที่การเตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และตราด

กอนช. ติดตามปัญหาขาดแคลนน้ำ จ.ประจวบคีรีขันธ์

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มอบหมายให้ นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง ผู้อำนวยการ สทนช.ภาค 2 และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ร่วมกับฝ่ายปกครอง การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กรมชลประทาน และผู้นำชุมชน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 66 เพื่อติดตามสถานการณ์การขาดแคลนน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาในเขตบริการของ กปภ.สาขาบางสะพาน ที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาในเขต อ.บางสะพานและบางสะพานน้อย

สถานีผลิตน้ำช้างแรก ของ กปภ.สาขาบางสะพาน ใช้น้ำดิบในการผลิตน้ำประปาจากอ่างเก็บน้ำช้างแรก อ.บางสะพานน้อย ปัจจุบันเหลือปริมาณน้ำอยู่ที่ 133,000 ลบ.ม. คาดว่าจะสามารถใช้ผลิตน้ำประปาได้ประมาณ 2 สัปดาห์ และอาจส่งผลกระทบเข้าขั้นวิกฤตต่อการให้บริการน้ำประปาในพื้นที่ ซึ่ง กปภ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา พร้อมประชาสัมพันธ์
ให้ผู้ใช้น้ำได้รับทราบสถานการณ์และใช้น้ำอย่างประหยัด

แนวทางแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน กปภ.สาขาบางสะพาน ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1)ลดแรงดันน้ำ และอาจเปลี่ยนมาใช้วิธีการจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลาแทน เพื่อให้มีน้ำใช้อุปโภคบริโภคได้นานขึ้น 2)ขอให้สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี เข้าสำรวจและเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่ 3)หากมีปริมาณน้ำใช้การไม่เพียงพอ ขอให้ฝ่ายปกครองในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่แหล่งน้ำสำรองทั้ง 2 แหล่ง เพื่อบริหารจัดการน้ำที่เหลือร่วมกัน และประสาน ปภ. นำเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เพื่อสูบทอยน้ำมาใช้ในการผลิตน้ำประปา และ 4)ประสาน อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ และกรมชลประทานที่ เร่งทำการขุดลอกอ่างเก็บน้ำช้างแรก ส่วนระยะกลาง ขอให้ อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ พิจารณาเสริมประสิทธิภาพในการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำช้างแรกให้เก็บน้ำได้มากกว่าเดิม และวางระบบท่อส่งน้ำจากสถานีผลิตน้ำทับสะแก ซึ่งมีปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอที่ใช้น้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำช่องลมและคลองจะกระ เชื่อมกับระบบผลิตน้ำประปาที่สถานีผลิตน้ำร่อนทอง ซึ่งจะทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำในอนาคต