ฝ่ายเลขานุการ กอนช. ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
1.1 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วม ณ บริเวณหมู่บ้านเมืองทอง 2/4 ซอยพัฒนาการ 69 พื้นที่เขตประเวศ และตรวจสอบจุดอ่อนน้ำท่วมขังบริเวณชุมชนหมู่บ้านเกษรา-ฐิติพร พื้นที่เขตสวนหลวง ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากพื้นที่เป็นแอ่งกะทะ พื้นถนนต่ำ โดยได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังสำหรับฤดูฝนนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจการจัดทำทางขึ้นลงชั่วคราวบริเวณสะพานเฉลิมพระเกียรติ์ 60 พรรษา (หลังโรงพยาบาลจุฬาภรณ์) เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของชุมชนตลาดหลักสี่ให้ประชาชนผู้ใช้รถเข็นสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก และตรวจความคืบหน้าการพัฒนาคลองเปรมประชากรปัจจุบันอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
1.2 กองทัพบก จัดกำลังพลชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมด้วยกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน และยานพาหนะเครื่องจักรกล ร่วมกับประชาชนจิตอาสา ต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ช่วยกันขนย้ายเศษไม้ กิ่งไม้ และดินโคลน ที่กีดขวางสะพานข้ามคลองห้วยบ้านพลำ กีดขวางทางน้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก ในพื้นที่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อน และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนในพื้นที่
2. สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การประปาส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมโครงการ “อาสาประปาเพื่อปวงชนประจำปี 2566” บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตน้ำประปาวิธีตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค การตรวจสอบท่อประปา ซ่อมแซมท่อแตกท่อรั่วภายในบ้านเบื้องต้น และสร้างความตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าให้แก่เยาวชน รวมทั้ง ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมเป็นเครือข่าย “ฮีโร่น้อยอาสาพิทักษ์น้ำ” เพื่อช่วยลดน้ำสูญเสียและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำต่อไป ณ โรงเรียนบ้านสันตะลุง ตำบลท่ามะนาว อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม จำนวน 3 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดจันทบุรี (ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ เมืองจันทบุรี แก่งหางแมว และมะขาม) จังหวัดตราด (บ่อไร่ เกาะช้าง และเขาสมิง) จังหวัดนครนายก (ปากพลี) จังหวัดระยอง (เขาชะเมา) จังหวัดยะลา (ยะหา) จังหวัดสงขลา (สะบ้าย้อย)