กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 มิถุนายน 2566

1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566

กรมเจ้าท่า เร่งขุดลอก เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินเรือ การระบายน้ำ การอุปโภคบริโภค และเพิ่มพื้นที่รับน้ำเพื่อใช้ ในภาคการเกษตร โดยมีความคืบหน้าผลการดำเนินงานขุดลอกร่องน้ำคลองเตรียม (ร่องใน) ม.9 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา ขณะนี้ดำเนินการได้ปริมาณสะสม 28,800 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 95.86 ผลที่ได้จากการขุดลอก เรือสามารถเข้า – ออกร่องน้ำได้ตลอดเวลา เรือสามารถหลบคลื่นลมมรสุม ส่งเสริมอาชีพประมงและการท่องเที่ยวในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง บำรุงรักษาร่องน้ำลดสิ่งกีดขวางเพิ่มพื้นที่ระบายน้ำ แก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีประชาชนได้รับประโยชน์จากการขุดลอกประมาณ 100 ครัวเรือน เรือขนาด 10 ตันกรอสส์ เป็นเรือประมงพื้นบ้านแบบเพลาใบจักรยาวและเรือท้องแบน ประมาณ 100 ลำ สามารถเข้าออกร่องน้ำได้สะดวกและปลอดภัยช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและการท่องเที่ยว

2. สภาพอากาศ

ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้ฝนตกหนักมากในภาคตะวันออก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยฤดูฝน ปี 66 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แผนงานโครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานปกติของหน่วยงานและโครงการเสนอเพิ่มเติมสอดคล้องตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี จำนวน 2,978 โครงการ ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,250 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 998,000 ไร่ ลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำชีตอนกลางและตอนล่างได้ 207 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่น้ำท่วมลดลง 684,000 ไร่ สามารถช่วยเติมน้ำให้แหล่งน้ำขนาดเล็กตลอดสองฝั่งลำน้ำ
เพื่อใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้ 1,348 แห่ง รวมทั้งมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 28 แห่ง

4. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน

สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ดังนี้ จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง แม่ระมาด อุ้มผาง และแม่สอด) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ เมืองจันทบุรี มะขาม แก่งหางแมว นายายอาม และโป่งน้ำร้อน) จังหวัดตราด (อำเภอบ่อไร่ เกาะช้างแหลมงอน เขาสมิง และเมืองตราด) จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา แกลง บ้านค่าย บ้านฉาง และปลวกแดง) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอนาดี ประจันตคาม และกบินทร์บุรี) จังหวัดนครนายก (อำเภอปากพลี) จังหวัดชลบุรี (อำเภอศรีราชา และบ่อทอง) จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ)