สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 มิ.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ปราจีนบุรี (212) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (147) จ.ลำปาง (89) จ.อุบลราชธานี (77) จ.ระนอง (74) และ จ.ปทุมธานี (39)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 42,412 ล้าน ลบ.ม. (51%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,022 ล้าน ลบ.ม. (52%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง ตรวจสอบระบบจ่ายไฟฟ้าของระบบสูบน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้องที่อาจเกิดขึ้น ณ สถานีสูบน้ำพระโขนงและสถานีสูบน้ำอุโมงค์พระโขนงและเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าขัดข้องให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว สามารถบริหารจัดการการระบายน้ำในการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ วันที่ 8 –11 มิ.ย. 66 พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ดังนี้ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ตาก แพร่ พิจิตร อุตรดิตถ์นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และยะลา

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการบริหารทรัพยากรน้ำโดยใช้ฝายแกนดินซีเมนต์ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อชุมชน ด้วยฝายแกนดินซีเมนต์ แนวทางการออกแบบฝายแกนดินซีเมนต์และการทดสอบ แนวทางการก่อสร้างและการขออนุมัติ และการวิจัยคุณลักษณะฝายแกนดินซีเมนต์สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมทั้งพิจารณาหลักเกณฑ์ฝายแกนดินซีเมนต์ และกรอบระยะเวลาดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการบริหารทรัพยากรน้ำโดยใช้ฝายแกนดินซีเมนต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สมดุลและยั่งยืน สอดคล้องกับหลักวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการน้ำในอนาคต สำหรับให้ภาคประชาชน ชุมชน และหน่วยงานที่สนใจได้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปใช้ได้อย่างเหมาะสม อันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตในทุกภาคส่วน ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรม ตามเป้าหมายในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ต่อไป