กรมประมง…เปิดโผ 7 งานวิจัย ภายใต้ MOA บุกศึกษาดูงานแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ พร้อมเดินหน้าใช้ประโยชน์จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง และคณะผู้บริหาร เดินทางเข้าศึกษาดูงาน ณ ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม จังหวัดสงขลา และแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ โครงการอาทิตย์ นอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย พร้อมเดินหน้างานวิจัย 7 ชุดการศึกษา ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการศึกษาวิจัยการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมง จากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม นอกชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ในระหว่างวันที่ 30 – 31 พฤษภาคม 2566

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า บันทึกข้อตกลงฯ ดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือระหว่าง กรมประมง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) ซึ่งมีการลงนามเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อการประมง ผ่านการศึกษา ทดลอง วิจัยเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ รวมถึง ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศต่อการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษาสมดุลระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ทั้ง 5 หน่วยงานได้มีการกำหนดขอบเขต พร้อมวางแผนดำเนินการศึกษา วิจัยใน 7 ชุดการศึกษา ดังนี้

1. การศึกษาทางสมุทรศาสตร์และแบบจำลองทางอุทกพลศาสตร์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลง และประเมินศักยภาพพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม

2. การศึกษาทรัพยากรและการประมงบริเวณจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุม
ผลิตปิโตรเลียม

3. การศึกษานิเวศวิทยาและสิ่งมีชีวิตขั้นพื้นฐานบริเวณจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม

4. การศึกษาสิ่งมีชีวิตใต้น้ำบริเวณจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม

5. การศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักและปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนบริเวณจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อ
การประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม

6. การศึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม และความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลเพื่อการประมงจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม

7. การศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดวางขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล

สำหรับการศึกษาดูงานครั้งนี้ เป็นการวางแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับการนำขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมไปจัดสร้างเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล เพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ตลอดจน ต่อยอดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางเลือกนี้ให้เกิดคุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป อธิบดีฯ กล่าว