กรมโยธาฯ เดินหน้านำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ไปสู่การปฏิบัติจริง บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ทั่วประเทศ 76 จังหวัด หน่วยงานได้นำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดโครงการและกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้กำชับให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทุกจังหวัด นำแผนงานโครงการจากการจัดทำผังภูมิสังคมมาดำเนินการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน โดยอาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good ในพื้นที่ทุกมิติ ซึ่งในปัจจุบันมีหลายพื้นที่ขยายผลนำแผนงาน/โครงการ ลงไปปฏิบัติหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่

จังหวัดมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยนายอำเภอทุกอำเภอ เร่งดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม – น้ำแล้ง ในจังหวัด โดยการนำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ของกรมโยธาธิการและผังเมือง มาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการระบุพื้นที่ที่เกิดปัญหา และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา ในการนี้มีโครงการนำร่องที่ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้ดำเนินการโครงการปรับปรุงซ่อมแซมฝายนานายเพ็ง ลำห้วยโศกเปลือย หมู่ที่ 12 บ้านแวงใหม่ ตำบลยางสีสุราช อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง

ด้านนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการจัดทำผังภูมิสังคม เพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) โดยคำนึงถึงโครงการที่ผู้แทนชุมชนของแต่ละพื้นที่ได้แนะนำไว้ เป็นโครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้โดยเร่งด่วน จึงมอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสกลนคร ร่วมกับเทศบาลนครสกลนคร ดำเนินการโครงการจัดทำบ่อพักน้ำแบบธนาคารน้ำใต้ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชน เนื่องจากขาดระบบท่อหรือรางระบายน้ำ จึงทำให้น้ำเน่าเสีย โครงการดังกล่าวสามารถบรรเทาปัญหาเบื้องต้นให้แก่ชุมชนบ้านกกส้มโฮง บริเวณถนนทางเข้าวัดป่าธาราธรรมารามได้

ทั้งนี้ โครงการทั้งสองดำเนินการโดยอาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำงานแบบบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ถือเป็นโครงการนำร่องเป็นต้นแบบและตัวอย่างที่ดีให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป