สถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ดังนี้

1. ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ในช่วงวันที่ 27 พ.ค. – 1 มิ.ย. 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มเก่า) ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี (อำเภอท่ายาง บ้านลาด และเมืองเพชรบุรี) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน และปราณบุรี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเมืองบุรีรัมย์) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี และพิบูลมังสาหาร) ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี) จังหวัดระยอง (อำเภอเมืองระยอง และแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด และเขาสมิง) และ ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ) จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์ เมืองระนอง และสุขสำราญ)จังหวัดพังงา (อำเภอกะปง คุระบุรี ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอกะทู้ ถลาง และเมืองภูเก็ต) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเกาะลันตา คลองท่อม เมืองกระบี่ เหนือคลอง และอ่าวลึก) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง กันตัง และปะเหลียน) จังหวัดสตูล (อำเภอทุ่งหว้า)

2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
2.1 กรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝน ดำเนินการเร่งลดระดับน้ำในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่แนวริมแม่น้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงกำจัดขยะมูลฝอยและวัชพืช ไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ประกอบด้วย คลองหนึ่ง เขตลาดกระบัง คลองลำหินฝั่งเหนือ คลองหลวงแพ่ง เขตหนองจอก คลองเปรมประชากร เขตดอนเมือง และคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงสถานีรถไฟฟ้าวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร
2.2 กรมชลประทาน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1 เครื่อง บริเวณ ตำบลดอนแฝก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมถึงดำเนินการกำจัดวัชพืช ในเขตพื้นที่ ตำบลอินทรประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง เพื่อลดการแพร่ขยายของผักตบชวาและเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำในช่วงฤดูฝน

3. สภาพอากาศ
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเล อันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณด้านตะวันตกของภาคกลาง

4. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
4.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำ 43,013 ล้าน ลบ.ม. (52%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำ 38,590 ล้าน ลบ.ม. (54%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,665 ล้าน ลบ.ม. (46%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,757 ล้าน ลบ.ม. (34%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 5,204 ล้าน ลบ.ม. (29%)