สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 มิ.ย. 66 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.พังงา (117) จ.นครราชสีมา (53) จ.ตาก (52) จ.อุทัยธานี (35) จันทบุรี (43) จ.กาญจนบุรี (13)

ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 43,013 ล้าน ลบ.ม. (52%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38,590 ล้าน ลบ.ม. (54%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี ยกเว้นน้ำท่าจีนค่าออกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน

กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดผลการเบิกจ่ายโครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำโคกนนทรี หมู่ที่ 17 ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตให้กับประชาชนในพื้นที่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะมีความจุเก็บกัก 0.165 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 27 ครัวเรือน พื้นที่เกษตร 250 ไร่

พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากช่วง 1-3 วัน ดังนี้ ภาคเหนือ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ และตาก ภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และตราด ภาคใต้ บริเวณ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

กรมชลประทาน ดำเนินการโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านบริเวณตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา มีลักษณะแคบเป็นคอขวด ทำให้สามารถระบายน้ำได้เพียง 1,200 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งบริเวณเกาะเมืองอยุธยาเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อปริมาณน้ำไหลมารวมกันบริเวณจุดบรรจบส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งอยู่เป็นประจำ กระทบต่อพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา มักจะสบปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก จึงได้ดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากฯ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีองค์ประกอบโครงการ ดังนี้
1. คลองระบายน้ำสายใหม่ ความยาวประมาณ 22.50 กม. ระบายน้ำได้สูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที พร้อมถนนลาดยางบนคันคลองทั้ง 2 ฝั่ง
2. ประตูระบายน้ำ 2 แห่ง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 1,200 ลบ.ม./วินาที
3. สะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายน้ำหลากฯ จำนวน 11 แห่ง
4. สถานีสูบน้ำและท่อระบายน้ำ บริเวณจุดตัดของคลองระบายน้ำหลากกับคลองส่งน้ำเดิม จำนวน 37 แห่ง
5. กำแพงป้องกันตลิ่งท้ายประตูระบายน้ำ ปลายคลองระบายน้ำหลากฯ ความยาว 4 กม.
6. คันกั้นน้ำโดยรอบพื้นที่โครงการฯ พร้อมอาคารประกอบ มีความยาวประมาณ 54 กม.

ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 37 ของแผนฯ หากโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วยเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรม ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคกว่า 15 ล้าน ลบ.ม.