กรมทะเลชายฝั่ง สัญจรพบปะพี่น้องเครือข่ายทางทะเล พังงา-ระนอง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน ปกป้องทะเลอันดามัน

วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่วมคิด ร่วมทำ ผ่านแนวทางการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศไทยซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญทั้งต่อระบบนิเวศและมีความสำคัญทั้งในฐานะเป็นแหล่งสร้างอาหาร แหล่งท่องเที่ยวที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้อย่างมหาศาล แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่ามีการทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งโดยเจตนาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์เป็นจำนวนมาก ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของกรมฯ มีไม่เพียงพอต่อการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งประเทศ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยพลังของเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษาดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยตามแนวทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับผลกระทบโดยตรงจากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดที่ต้องการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง โดยกรมฯ ได้พัฒนาศักยภาพเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาแนวคิดร่วมกันในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมฯ ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการจัดประชุมภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 7 ในพื้นที่จังหวัดพังงา และระนอง โดยมีนายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 พร้อมด้วยดร.แสงจันทร์ วายทุกข์ ผู้อำนวยการกองจัดการชุมชนชายฝั่งและเครือข่าย นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลทั้ง 2 จังหวัด เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมภูงา ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา เพื่อรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการนำมาพัฒนาความรู้ในทางนโยบาย ระเบียบ กฎหมาย ข้อมูลระดับพื้นที่ สภาพระบบนิเวศ แหล่งทรัพยากร การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของชุมชน อีกทั้งเป็นฐานข้อมูลสำหรับพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งปัจจุบันจังหวัดระนองมีจำนวนเครือข่ายชุมชนชนชายฝั่ง 21 กลุ่ม/546 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล 786 คน ส่วนจังหวัดพังงามีจำนวนเครือข่ายชุมชนชนชายฝั่ง 42 กลุ่ม/1,227 คน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล 1,302 คน โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง การแปรรูปอาหารทะเลและป่าชายเลน เกษตรกรรม การเพาะปลูกพืชต่างๆ เป็นต้น

จากจำนวนเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลข้างต้นนั้น ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในพื้นที่ กรมฯ จึงเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล โดยการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน รวมถึงเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ กรมฯ ได้เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าหมาย 10 ปี เพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน 300,000 ไร่ พร้อมกับเชิญชวนพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อมีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่าชายเลนให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นต่อไป ” นายอภิชัย รรท.อทช. กล่าวทิ้งท้าย”

ด้าน นายประถม รัสมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สทช.6) กล่าวว่า ตนในฐานะผู้นำเขตรับผิดชอบพื้นที่จังหวัดพังงาและระนอง ต้องขอขอบคุณท่านรักษาราชการแทนอธิบดี ทช. เป็นอย่างยิ่งที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนางานด้านเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และเลือกจังหวัดพังงาเป็นสถานที่จัดประชุมภาคีชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 7 เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเข้าใจในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในทุกมิติ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่พบเจอในขณะปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเสนอแนะปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันหารือและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกระบวนการคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ สทช.6 พร้อมจะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากพี่น้องเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ให้ช่วยกันสอดส่องดูแลทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลน รวมถึงสัตว์ทะเลหายาก อีกทั้งฝึกอบรมเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลรุ่นเยาวชน เพื่อสานต่องานด้านเครือข่ายทางทะเลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างโอกาสและอาชีพในการหารายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาปรับเปลี่ยนให้ทันยุค ทันสมัย พร้อมจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเกิดเป็นธุรกิจขนาดย่อมในชุมชนอีกด้วย