แปลงใหญ่มังคุดตำบลกะเฉด จ.ระยอง ต้นแบบมาตรฐาน GAP 100%

กรมส่งเสริมการเกษตร ชูแปลงใหญ่มังคุดตำบลกะเฉด จังหวัดระยอง เป็นต้นแบบสวนมังคุด หลังเข้าสนับสนุน และชี้ให้เห็นการทำเกษตรปลอดภัย ลดต้นทุน และเพิ่มพลผลิต จน 35 สมาชิก พื้นที่ปลูก 322 ไร่ ได้มาตรฐาน GAP ทั้งหมด พร้อมส่งออกต่างประเทศร้อยละ 70

นางสาววรนุช สีแดง เกษตรจังหวัดระยอง พร้อมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่แปลงใหญ่มังคุดตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตมังคุดทั้งระบบที่มีการลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพการผลิต การบริหารจัดการที่ดี และเชื่อมโยงการตลาด จนสวนมังคุดของสมาชิกแปลงใหญ่ทั้ง 35 ราย พื้นที่ปลูกรวม 322 ไร่ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

เกษตรจังหวัดระยอง กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยเกษตรจังหวัดระยอง ได้สนับสนุนองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตมังคุดแก่สมาชิกแปลงใหญ่ทั้ง 35 ราย เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐาน โดยเฉพาะการบำรุงรักษาดินและการให้ปุ๋ย โดยเน้นให้เกษตรกรให้ปุ๋ยในแปลงตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือให้ปุ๋ยเท่าที่จำเป็น หรือ ให้พอดี ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะเป็นกระดุมเม็ดแรกในการพัฒนาคุณภาพสินค้า และการลดต้นทุน พร้อมแนะนำให้เกษตรกรทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทราบถึงรายรับ รายจ่าย และวางแผนการใช้เงินในอนาคต

“การตรวจวิเคราะห์ค่าดิน เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกรโดยตรง หรือพาปฏิบัติจริงเพื่อให้เกษตรกรคำนวณต้นทุนการใช้ปุ๋ยต่อฤดูกาลผลิตได้อย่างถูกต้อง เพราะถ้าให้ปุ๋ยเกินความจำเป็นหรือเกินพอดี จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากและบางครั้งอาจจะกระทบกับผลผลิตของมังคุดได้ ซึ่งในการตรวจวิเคราะห์ค่าดินของภาคตะวันออกที่ผ่านมา พบว่าค่าดินมีความเป็นกรดสูง เพราะมีการใช้สารเคมีเกินความจำเป็นและตกค้างในดิน ดังนั้นจึงแนะนำให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพมากขึ้น เพื่อลดค่าความเป็นกรดลง โดยปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ เกษตรกรสามารถหมักเองได้ โดยใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในครัวเรือนหรือในท้องถิ่น เพื่อปรับโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี เพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในดิน และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช”

นางสาววรนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเน้นให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา ในการป้องกันกำจัดโรคพืช หรือน้ำหมักสูตรต่าง ๆ ในการไล่แมลงหรือศัตรูพืชเป็นหลัก เพื่อลดการใช้สารเคมีให้ได้มากที่สุด เพราะนอกจากมีราคาแพงแล้ว ยังอาจมีสารตกค้าง ทำให้ไม่ปลอดภัยทั้งตัวเกษตรกรและผู้บริโภค รวมไปถึงเน้นให้มีการตัดแต่งกิ่งเพื่อลดแหล่งอาศัยหลบซ่อนของโรคและแมลง ลดปริมาณกิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์และแย่งอาหาร ทำให้โครงสร้างลำต้นแข็งแรง เพิ่มโอกาสในการออกดอกติดผลดีขึ้น และกระตุ้นให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อนพร้อมกันและติดผลพร้อมกัน

“ในอนาคตทางสำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จะสร้างอัตลักษณ์ในเรื่องรสชาติมังคุด โดยทำให้มังคุดมีคุณภาพทุกลูก ทั้งรสชาติที่หวานอมเปรี้ยว เนื้อฉ่ำน้ำ และกลิ่นหอม เพื่อให้เป็นราชินีผลไม้อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการบริหารจัดการต้นมังคุดที่ดี เช่น การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง ถูกเวลา และถูกสูตร และปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่เน้นผลิตมังคุดให้มีผิวลายมากกว่าผิวมัน โดยมังคุดผิวลายเกิดจากเพลี้ยไฟมาเจาะเปลือกมังคุด เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่ใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น โดยจะปล่อยเป็นธรรมชาติ เพราะทราบดีว่าจะมีร่องรอยแค่ที่เปลือก ไม่ได้ถึงเนื้อในของมังคุด ซึ่งมังคุดผิวลาย มีข้อดีคือ 1.ใช้สารเคมีน้อยลง 2.ต้นทุนการผลิตลดลง 3.รสชาติดีกว่ามังคุดผิวมัน และ 4.มังคุดที่เป็นเนื้อแก้วของผิวลายจะน้อยกว่าผิวมัน และปัจจุบันเริ่มเป็นที่นิยมของตลาดในประเทศจีน”

ส่วนการส่งเสริมให้แปลงใหญ่มังคุดตำบลกะเฉดได้มาตรฐาน GAP จำนวน 100 เปอร์เซ็นต์นั้น เกษตรจังหวัดระยอง กล่าวว่า การทำเกษตรแปลงใหญ่มังคุดอย่างประณีต ปลอดภัย ใส่ใจ ดูแลรักษาอย่างดี รวมไปถึงลดการใช้สารเคมี และเพิ่มปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ ที่เกษตรกรทำขึ้นเอง รวมไปถึงการบริหารจัดการสวนที่ดี ทำให้สมาชิกทั้ง 35 แปลง ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้งหมด ถือเป็นต้นแบบแปลงใหญ่มังคุดเลยทีเดียว และมาตรฐานนี้ทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ จนส่งผลต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นของแปลงใหญ่มังคุดตำบลกะเฉดในปัจจุบัน

ด้านนายสังวร ศรีสุข ประธานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่มังคุดกะเฉด กล่าวถึงการรวมกลุ่มจนเกิดความเข้มแข็งว่า การดำเนินงานของแปลงใหญ่จะเน้นการหารือและแจ้งข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์มังคุด เช่น ราคาสินค้า ปัญหาโรคและแมลง การเตือนภัยและพยากรณ์อากาศ ข่าวสารของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งหารือปัญหา และความต้องการของสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้เกิดแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด โดยมีการประชุมประจำเดือน เพื่อสรุปบัญชีรายรับ – รายจ่าย สถานะการเงิน และการออม พร้อมสรุปผลการดำเนินของแต่ละแปลง เช่น การลด หรือการเพิ่มผลผลิตในแปลง ซึ่งที่ผ่านมามีการลดต้นทุนได้เฉลี่ยร้อยละ 20 และเพิ่มผลผลิตได้เฉลี่ยร้อยละ 20 เช่นกัน

ส่วนการผลิตมังคุดให้ได้มาตรฐาน GAP นั้นทางกลุ่มได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ และชี้ให้เห็นความสำคัญของมาตรฐาน GAP ว่าจะส่งผลดีต่อยอดขาย และรายได้อย่างไร ทำให้สมาชิกทุกคนให้ความสำคัญและปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มได้รับรองมาตรฐาน GAP ครบทั้งหมดแล้ว ส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น เพราะสินค้ามีมาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อเพื่อการส่งออกร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด ประกอบกับมีการลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ ที่มีต้นทุนต่ำ และสามารถทำได้เอง ทำให้ลดรายจ่ายในส่วนนี้ไปได้มาก

ทั้งนี้แปลงใหญ่มังคุดตำบลกะเฉด มีแผนดำเนินการประกอบด้วย 1.เพิ่มช่องทางการจำหน่ายตลาดภายในประเทศ 25 % เน้นช่องทางพ่อค้าคนกลาง และตลาดท้องถิ่นต่างจังหวัด 2.การแปรรูปเพิ่มความหลากหลายของสินค้าเป็น 2% จากผลผลิต เช่น แปรรูปเป็นอาหารจากมังคุด 3.เพิ่มตลาดออนไลน์ผ่าน facebook และ line 3 % โดยกลุ่มเป้าหมายเน้นไปที่ประชาชนทั่วไปที่ใช้สื่อออนไลน์ เน้นให้เห็นกระบวนการผลิตตั้งแต่บำรุงต้น ออกดอก จนกระทั่งเก็บเกี่ยว เพื่อให้เปิดให้จองผลผลิตและคัดคุณภาพของมังคุด และ 4.พัฒนาเป็นสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมาเยี่ยมชมสวนอย่างใกล้ชิด เห็นกระบวนการผลิตทั้งหมด เพื่อสร้างความมั่นใจและจุดขายให้กับผู้บริโภค