ครม. รับทราบทูตฯ สัญจรแหล่งมรดกวัฒนธรรม-ยกระดับ 16 เทศกาลประเพณี ดัน Soft Power ความเป็นไทยสู่ระดับนานาชาติ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมต.วธ.) กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ครม. ได้รับทราบสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดทำนโยบายหลักด้านการทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ดังนี้ 1.โครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต ณ จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่คณะทูตานุทูต มีเอกอัครราชทูตและคู่สมรสจาก 28 ประเทศ เข้าร่วม 2.ยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มุ่งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย 5F ได้แก่ อาหาร (Food) ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย(Fashion)ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย(Festival)จำนวน 16 เทศกาล เช่น ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และเทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง 3.จัดงานวันศิลปินแห่งชาติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 และเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2528 ถึงปัจจุบัน มีศิลปินได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ รวม 343 คน

นอกจากนี้ ครม. ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2565 ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับงบประมาณ 572.10 ล้านบาท  ซึ่งได้ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและเผยแพร่สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาทิ ผลิตสื่อวีดิทัศน์ชุดช่างไทย และโครงการนักสืบสายรุ้ง ให้เด็กตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลและการไม่ล่วงละเมิดทางเพศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ในการพัฒนาสื่อและนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาทิ โครงการฐานข้อมูลต้นแบบเพื่อการรับมือกับข่าวปลอม และโครงการหยุดยั้งการระบาดของข่าวลวงด้วยข้อมูลเครือข่ายสังคม ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดกลไกและกระบวนการคัดกรอง เฝ้าระวัง และรู้เท่าทันสื่อ อาทิ ครูผู้นำนักสื่อสารเพื่อการรู้เท่าทันสื่อ และโครงการนักสืบสายชัวร์xชัวร์ก่อนแชร์สโมสร ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการสื่อสารเพื่อสังคมให้เกิดการรับรู้และมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคี อาทิ ผลิตหนังสือรวมเรื่องสั้น “เรื่องเล่า เราฝัน ถึงกรุงเทพฯ” และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาองค์กรสมรรถนะสูงและสร้างมูลค่าเพิ่มของสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อาทิ  เชื่อมโยงฐานข้อมูลกับภาครัฐ ปรับปรุงระบบบริหารจัดการงานโครงการ เพื่อให้ผู้ขอรับทุนจากกองทุน อบรมนำร่องหลักสูตรการเป็นวิทยากรส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลเท็จกับหน่วยงานระดับสากลและในประเทศ

ทั้งนี้ จากรายงานของคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนฯ พบว่า ในปีงบประมาณ 2565 ใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านประสิทธิผล ด้านประสิทธิภาพ ด้านคุณภาพและด้านพัฒนาองค์กร มีผลการประเมินในภาพรวมคะแนนเต็ม 5 คะแนน ได้อยู่ที่ 4.8306 คะแนน และการประเมินการบริหารจัดการองค์กรเพื่อคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) ได้รับผลการประเมินระดับ “A” (93.27 คะแนน) ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินผลฯ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ให้กองทุนฯ มีการสำรวจการรับรู้ของประชาชนต่อการดำเนินงานของกองทุนฯ รวมถึงสื่อต่าง ๆ ที่กองทุนฯ ผลิตและสนับสนุนการผลิต รวมถึงให้มีการร่วมมือกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเป็นช่องทางในการนำเนื้อหาสื่อที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด