ซินโครตรอนร่วม “ธัชวิทย์” พัฒนาหลักสูตรสร้างบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูง

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เข้าร่วมโครงการ “ธัชวิทย์” พัฒนาหลักสูตรสร้างบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูง ด้วยความร่วมมือของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ซึ่งเน้นให้นักศึกษาทำงานที่สถาบันวิจัยหรือภาคเอกชนอย่างน้อย 70% เป้าหมายสู่การเปลี่ยนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม

กรุงเทพมหานคร – วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) แถลงนโยบาย “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) เพื่อพัฒนากำลังคน และวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายในพิธีเปิดตัวและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ระหว่างสถาบันวิจัยแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน ณ ห้องแถลงข่าว อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. โดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บพค. และประธานกรรมการบริหารสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้บรรยายพิเศษใน “หัวข้อ “ธัชวิทย์” เพื่อประเทศไทย”

โอกาสนี้ รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “ธัชวิทย์” วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ร่วมกับตัวแทนจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชนทั้งหมด 26 หน่วยงาน ซึ่งจะร่วมพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูงเพื่อผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมีหัวข้อวิจัยจากสถาบันวิจัยและนักศึกษาต้องทำงานวิจัยที่สถาบันวิจัยหรือภาคเอกชนอย่างน้อย 70% ของระยะเวลาหลักสูตร อีก 30% เรียนภาคทฤษฎีและ soft skill ซึ่งบัณฑิตธัชวิทย์จะสำเร็จการศึกษาโดยมีทั้ง Degree certificate และ Skill (non-degree) certificate และต้องได้รับเข้าทำงานในสถาบันวิจัยและภาคเอกชน ในส่วนของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พัฒนาหลักสูตร High Energy Physics Innovation

สำหรับโครงการ “ธัชวิทย์” ดำเนินการโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อเปลี่ยนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม โดยมีกลไกขับเคลื่อนใน 3 มิติ ได้แก่

1. คลังความคิดนักวิทย์เพื่อเป็นศูนย์กลางของผู้เชี่ยวชาญ

2. การทำวิจัยขั้นแนวหน้าที่ส่งผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจและสังคม และรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ

3. การสร้างและพัฒนาบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูง