แพทย์เตือน “รู้เท่าทันภัยเงียบ โรคความดันโลหิตสูง” เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก

โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ชี้ โรคความดันโลหิตสูงเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้มากที่สุด และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรทั่วโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ กล่าวว่า สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก ได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น” วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension Day) โดยรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอัมพฤกษ์อัมพาต โดยเน้นให้ประชาชน รู้ค่าระดับความดันโลหิตและระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงของตนเอง ตลอดจนการปฏิบัติตนเพื่อดูแลรักษาระดับความดันโลหิต ระดับคลอเลสเตอรอล และน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับปกติ ซึ่งเป็นการป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attacks) ไตวาย และตาบอด เป็นต้น

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการวินิจฉัย และการรักษาอย่างเหมาะสม จะส่งผลต่อหลอดเลือดแดงที่หัวใจ, ไต, ตา, และสมอง ทำให้เกิดภาวะหัวใจโต ไตวาย อัมพาต และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ โดยโรคความดันโลหิตสูงส่วนมากมักจะไม่มีอาการแสดง จนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหลอดเลือดแดง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ หรือ หลอดเลือดสมองแตก ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงสามารถวินิจฉัยได้ง่าย เพียงใช้การวัดความดันโลหิตอย่างถูกวิธี ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านอยู่เสมอ หากท่านเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ทั้งนี้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด รสเค็มจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้แจ่มใสไม่เครียดจนเกินไป

นายแพทย์เคย์ เผ่าภูรี หน่วยโรคหัวใจ กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการวัดความดันด้วยตนเองที่บ้านนั้น สามารถทำได้ง่ายๆ ดังขั้นตอนต่อไปนี้  1.) ไม่ดื่มชา กาแฟ สูบบุหรี่ หรือออกกำลังกายก่อนทำการวัด 30 นาที 2.) ก่อนทำการวัดควรถ่ายปัสสาวะให้เรียบร้อย 3.) นั่งเก้าอี้โดยให้หลังพิงพนัก เพื่อไม่ให้หลังเกร็งเท้าทั้ง 2 ข้าง วางราบกับพื้น เพื่อให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายเป็นเวลา 5 นาที ก่อนวัดความดันโลหิต 4.) วัดความดันโลหิตในแขนข้างที่ไม่ถนัด หรือข้างที่มีความดันโลหิตสูงกว่า โดยวางแขนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับหัวใจ 5.) ขณะวัดความดันโลหิตไม่กำมือ ไม่พูดคุยหรือขยับตัว โดยความดันโลหิตที่เหมาะสมของคนอายุ 18 ปี ขึ้นไป สำหรับตัวบน อยู่ที่ 120-129 มิลลิเมตรปรอท และ สำหรับตัวล่าง อยู่ที่ 80-84 มิลลิเมตรปรอท และหากทราบว่าตนเองเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัย ตรวจภาวะหัวใจโต ตรวจภาวะไตเสื่อม และตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ รวมถึงตรวจหาโรคร่วมที่มาพร้อมกับความดันโลหิตสูง เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น