กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ประกาศภัยแล้งในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1-7 ต.ท่าเทววงษ์ อ.เกาะสีชัง จ.ชลบุรี อย่างใกล้ชิด โดยสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากมีฝนตกลงมาเติมในแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ จึงใช้มาตรการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนสามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนดังกล่าวมาใช้ในการอุปโภคบริโภค พร้อมขอความร่วมมือให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 21,917 ล้าน ลบ.ม. (38%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 17,736 ล้าน ลบ.ม. (37%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,435 ล้าน ลบ.ม. (48%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,746 ล้าน ลบ.ม. (34%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 6,489 ล้าน ลบ.ม. (36%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ค. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 17,665 ล้าน ลบ.ม. (37%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 15,701 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 242 ล้าน ลบ.ม. (2%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 105 ล้าน ลบ.ม. (2%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วานนี้ กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้ประชุมเพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2566 ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ของรัฐบาล โดยเน้นย้ำการให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์ การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ การสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร การเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยในการออกปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ และมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ควบคู่กับการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด และการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตขาดแคลนน้ำให้ได้มากที่สุด