รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 เมษายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 เมษายน 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมชลประทาน ดำเนินการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ จำนวน 7 เครื่อง บริเวณตำบลเชียรเขา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และตำบลเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมประสบภัยแล้ง

2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 29 เม.ย. – 1 พ.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 22,451 ล้าน ลบ.ม. (39%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 18,226 ล้าน ลบ.ม. (38%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,479 ล้าน ลบ.ม. (49%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,746 ล้าน ลบ.ม. (34%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 6,714 ล้าน ลบ.ม. (37%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 18,153 ล้าน ลบ.ม. (38%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 19,987 ล้าน ลบ.ม. (91%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 8,182 ล้าน ลบ.ม. (95%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดการประชุมเริ่มงานโครงการจัดทำศูนย์ข้อมูลทรัพยากรน้ำ ระดับลุ่มน้ำ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สสน. และ สทนช. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ รวมถึงภาคประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการติดตามสถานการณ์น้ำในระดับพื้นที่รายลุ่มน้ำ และนำไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการแจ้งเตือนสถานการณ์ภัยด้านน้ำ ช่วยป้องกันและลดผลกระทบได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงานให้สอดคล้องกับทิศทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป