AHF ผนึกกำลังกรมควบคุมโรคและภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาความร่วมมือด้านเอชไอวี/เอดส์ (ไทย-กัมพูชา) ส่งเสริมแรงงานกัมพูชาในชายแดนไทยให้เข้าถึงการรักษา

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงทำให้มีประชากรข้ามชาติเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่ได้เป็นพลเมืองของไทย การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจึงยังมีข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะในเรื่องการดูแลรักษาด้านเอชไอวี ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย ร่วมกับ กรมควบคุมโรค นำโดยกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และองค์กรพันมิตรภาคประชาสังคม (NGO) จึงได้จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาความร่วมมือการดูแลรักษาด้านเอชไอวี/เอดส์ ในพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศ (ไทย-กัมพูชา)” เพื่อร่วมกันพัฒนางานด้านเอชไอวี/เอดส์ ระหว่างสองประเทศ และส่งเสริมให้แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในชายแดนไทยให้เข้าถึงการรักษาเอชไอวีอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยได้รับเกียรติจากนายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมทั้งมีผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศเข้าร่วมการประชุมระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน 2566 ณ โรงแรม ไอบิส กรุงเทพ ริเวอร์ไซด์

นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี รักษาการนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก เปิดเผยว่า แรงงานชาวกัมพูชาในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ด้วยมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ จากสภาพความเป็นอยู่และสภาพการทำงาน ทำให้เรื่องเอชไอวี/เอดส์ นับเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านสุขภาพที่สำคัญที่แรงงานข้ามชาติต้องเผชิญ และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ การประชุมครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทย-กัมพูชา ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมให้แรงงานกัมพูชาในชายแดนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสได้ทันที รวมถึงพัฒนาระบบบริการส่งต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ สำหรับแรงงานข้ามชาติ ให้คงอยู่ในระบบการรักษา สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ นำไปสู่การมีสุขภาพชีวิตที่ดีในสังคมต่อไป

Dr. Sarath Chhim ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) กล่าวว่า มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) มีพันธกิจในการส่งเสริมผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีทุกคนให้เข้าถึงระบบการรักษาและยาต้านไวรัสไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใครและอาศัยอยู่ที่ใด การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมที่สำคัญเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานชาวกัมพูชาที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีที่เข้ามาทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ AHF มีสำนักงานตั้งอยู่ทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา เราจึงอาสาเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมระหว่างทั้งสองประเทศจนเกิดการประชุมที่สำคัญในวันนี้ขึ้น นอกจากนี้ เรายังหวังว่านี่จะเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้การเข้าถึงระบบการรักษาข้ามพรมแดนง่ายขึ้น โดยคำนึงถึงความต้องการและความท้าทายของกลุ่มผู้รับบริการ

สำหรับประเทศไทยมีหน่วยงานเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศไทย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว, มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ มูลนิธิรักษ์ไทย และมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ในส่วนหน่วยงานจากประเทศกัมพูชา ได้แก่ National AIDS Authority (NAA), The National Center for HIV/AIDS, Dermatology and STD (NCHADS) มูลนิธิเอดส์ เฮลท์ แคร์ (AHF) ประเทศกัมพูชา และ Health Action Coordinating Committee