ก.แรงงาน น้อมนำศาสตร์พระราชาสร้างเศรษฐกิจชายแดนใต้สู่ไทยยั่งยืน

ก.แรงงาน น้อมนำศาสตร์พระราชา สร้างงาน สร้างอาชีพ ดันเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สู่เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

นายสุชาติ พรวิเศษชัยกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบาย 3A ของกระทรวงแรงงาน ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานนอกจากครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังต้องกระจายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศด้วย กพร.จึงจัดให้มีโครงการ “สร้างงานสู่เมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการพัฒนาทักษะให้กับแรงงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยมีเป้าหมายดำเนินการในปี 2562 จำนวน 780 คน ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว จำนวน 680 คน

การพัฒนาทักษะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ กพร.ได้ น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ผสานกับหลักปรัชญาพอเพียง มาปรับใช้ในการแก้ปัญหา โดยให้หน่วยงานภาครัฐ บูรณาการความร่วมมือกับ ในรูปแบบประชารัฐ กับหน่วยงานภาคเอกชนและท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ให้สามารถยืนหยัดพึ่งพาตัวเองได้ อย่างมั่นคง อันจะเป็นการช่วยปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นไทย ความรักในถิ่นฐาน ปลูกสำนึกความรักชาติและสร้างความสมานสามัคคี
ล่าสุด ได้มอบหมายให้นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ขายของที่ระลึก ณ บ่อน้ำร้อน ต. ตาเนะแมเราะ อ. เบตง จ. ยะลา จำนวน 20 คน ซึ่งเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตร ทำของที่ระลึกจากไม้ไผ่ เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว กับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 24 ยะลา พร้อมเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน หจก. อู่มาร์มอเตอร์คาร์ ด้วย

นางถวิล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับอีก 2 จังหวัดคือปัตตานีและนราธิวาส ได้ดำเนินการฝึกอบรม ให้กับแรงงานในพื้นที่เช่นกัน โดยในปี 2562 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 23 ปัตตานี เปิดฝึกอบรมวิชาชีพ 12 สาขาแก่ประชาชนในพื้นที่ มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 260 คน ส่วนสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 25 นราธิวาส ได้เปิดอบรมหลักสูตร ช่างเดินไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างปูกระเบื้อง ช่างตัดเย็บเครื่องแต่งกายมุสลิม ช่างเดินสายไฟฟ้าอุตสาหกรรม และช่างเชื่อมไฟฟ้า มีผู้ผ่านการฝึกอบรม 180 คน นอกจากนั้นยังเตรียมเปิดคอร์สอบรมช่างปูกระเบื้อง ช่างปูนปั้นไม้เทียม ทำขนมไทย และ ทำเบเกอรี่ อีก คอร์สละ 20 คน ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ (073) 203-222

 

“ การฝึกอบรมวิชาชีพ ตามโครงการนี้จะเป็นอีก 1 มาตรการที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเป็นเหมือนเกราะป้องกันความรุนแรงในพื้นที่ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” อธิบดีกพร.กล่าวทิ้งท้าย .