กรมชลประทาน ร่วมขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างฯ การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน

วันที่ 20 เมษายน 2566  ณ ห้องประชุมกรม ชั้น 3 อาคารอำนวยการ กรมชลประทาน  นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์  รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นประธานการประชุมโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน(Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture)

โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล  รองอธิบดีกรมชลประทาน  นายสุรชาติ  มาลาศรี   ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ  พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP)  , องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน(GIZ)   และผู้แทนจากหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและการเกษตรแบบยั่งยืน (Enhancing Climate Resilience in Thailand through Effective Water Management and Sustainable Agriculture) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมชลประทาน  สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP)   และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)  ที่ได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF)  มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ

โดยคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และกรมชลประทาน ในยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความแข็งแรงให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตร ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ยุทธศาสตร์ที่ 4  การบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการฯ ในลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่าน (จังหวัดพิษณุโลก ,จังหวัดสุโขทัย,จังหวัดอุตรดิตถ์) เป็นพื้นที่นำร่องในการต่อยอดพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อื่นๆ ให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม   สามารถสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำเพื่อสนับสนุนการเกษตร  สร้างรายได้ขยายอาชีพให้เกษตรกรได้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น