กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 เมษายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำ ติดตามตรวจสอบเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำ ณ จุดเก็บตัวอย่างน้ำสะพานน้ำแม่กกเชียงราย ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ภายใต้โครงการติดตามตรวจสอบและประเมินผลคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงตามสถานีเครือข่าย MRC (Water QualityMonitoring Network:WQMN)
2. สภาพอากาศ
ประเทศไทยมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัด รวมถึงระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับลมตะวันตกเฉียงเหนือและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 23,783 ล้าน ลบ.ม. (41%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 19,425 ล้าน ลบ.ม. (41%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,609 ล้าน ลบ.ม. (51%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,748 ล้าน ลบ.ม. (34%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 7,216 ล้าน ลบ.ม. (40%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 19,346 ล้าน ลบ.ม. (41%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 18,840 ล้าน ลบ.ม. (86%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,722 ล้าน ลบ.ม. (90%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมอุตุนิยมวิทยาเข้าร่วมประชุม Belt and Road Forum on Early Warnings for All and 50th China Study Tour ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological organization) และกรมอุตุนิยมวิทยาจีน (China Meteorological Administration) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิก โดยเฉพาะในประเด็นด้านการพัฒนาจัดหาระบบเตือนภัยให้ครอบคลุมทั่วโลกและทุกคนเข้าถึงได้ (Early Warnings for All) เพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ซึ่งจะเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติได้ โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวน 50 คน จากประเทศสมาชิกองการอุตุนิยมวิทยาโลก 21 ประเทศ