สคบ. เตรียมออกคำสั่งห้ามขายบัตรพลังงาน

จากกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่อง “บัตรพลังงาน รักษาโรคได้” สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแล้ว พบว่าเป็นการดำเนินการของบริษัท เอ็กซ์เพิร์ทโปรเน็ทเวิร์ค จำกัด ซึ่งเคยได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจขายตรงจาก สคบ. เมื่อปี ๒๕๕๖ โดยขอจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องสำอางและได้ถูกเพิกถอนทะเบียน นับแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒  เนื่องจากไม่มาวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรง ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่ง สคบ. ได้เรียกผู้ประกอบการเข้ามาชี้แจงข้อเท็จจริง และผู้ประกอบการได้มีการให้ข้อมูลพร้อมส่งมอบตัวบัตร ใบโฆษณาและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ แล้ว เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๒

ต่อมา วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๓๐ น. สคบ. ได้รวบรวมข้อมูลและนำเสนอในการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาสินค้าและบริการที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าร่วมให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเอกสารหลักฐานประกอบความคิดเห็นทั้งสองหน่วยงานแล้ว เห็นว่า “บัตรพลังงาน” ตรวจสอบแล้วพบว่า มีระดับของรังสีสูงกว่าระดับปกติตามธรรมชาติหลายเท่าตัว เนื่องจากมีแร่ยูเรเนียมและทอเรียมเป็นองค์ประกอบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ประกอบกับมีความเห็นว่าปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนเพียงพอในการรักษาโรคได้  ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงเห็นควรนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  มีคำสั่งห้ามขายสินค้าบัตรพลังงานเป็นการชั่วคราว ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๖ มาตรา ๓๖ ผู้ประกอบธุรกิจผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ผู้ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับผู้มีไว้ครอบครองที่ประสงค์จะส่งมอบบัตรพลังงานเพื่อทำลาย  สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ปรมาณูเพื่อสันติภูมิภาคทั้ง ๔ ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) โทร. ๐๕๓ ๒๑๑๔๓๔๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น) โทร. ๐๔๓ ๐๔๗๔๐๐ ต่อ ๑๐๖ ภาคตะวันออก(จังหวัดระยอง) โทร. ๐๓๘ ๖๙๔๑๖๘ และภาคใต้ (จังหวัดสงขลา) โทร. ๐๗๔ ๒๘๒๙๓๑

ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวข้างต้น
สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด หรือโทรศัพท์สายด่วน สคบ. ๑๑๖๖