วธ.ปลื้มเผยโพลชี้เด็ก-ประชาชนส่วนใหญ่พร้อมใจสืบสานประเพณี “สงกรานต์” 2566

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มีต่อประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล”จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 4,506 คน ครอบคลุมทุกอาชีพและทุกภูมิภาค สรุปได้พอสังเขปดังนี้

1. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.00 คิดว่า “วันสงกรานต์” มีความสำคัญเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทย รองลงมา ร้อยละ 67.84 เป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนกลายเป็นวัฒนธรรมประจำชาติ งดงามบ่งบอกถึงความเป็นไทย ร้อยละ 62.94 เป็นวันครอบครัว ส่วนใหญ่จะเดินทางกลับไปหาครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกันและร้อยละ 51.22 เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ตามลำดับ

2. เมื่อพูดถึงประเพณีสงกรานต์ ส่วนใหญ่จะนึกถึงสิ่งใดหรือเรื่องใดมากที่สุด อันดับ 1 ร้อยละ 34.38 การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ อันดับ 2 ร้อยละ 20.84 การเล่นน้ำสงกรานต์ และอันดับ 3 ร้อยละ 12.72 การขึ้นปีใหม่แบบไทย

3. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.66 สนใจเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ รองลงมา คือ ร้อยละ 27.14 ไม่แน่ใจแล้วแต่โอกาส และร้อยละ 5.39 ไม่สนใจเข้าร่วมงาน

4. เด็ก เยาวชนและประชาชนส่วนใหญ่ ตั้งใจเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ ในสถานที่ใดมากที่สุด อันดับ 1 ร้อยละ 45.18 วัด อันดับ 2 ร้อยละ 30.20 บ้าน และอันดับ 3 ร้อยละ 29.27 สถานที่ที่มีการจัดงานสงกรานต์

5. หากมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมที่จังหวัดใด อันดับ 1 ร้อยละ 27.43 จังหวัดเชียงใหม่ “งานสืบสานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองวิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” อันดับ 2 ร้อยละ 13.78 จังหวัดขอนแก่น “งานสงกรานต์ มหานครขอนแก่น” อันดับ 3 ร้อยละ 13.23 จังหวัดชลบุรี  “งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน” และ “งานประเพณีสงกรานต์อำเภอเกาะสีชัง”

6. กิจกรรมที่ตั้งใจจะทำในประเพณีสงกรานต์ อันดับ 1 ร้อยละ 61.23 รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ อันดับ 2 ร้อยละ 60.54 ทำบุญตักบาตร อันดับ 3 ร้อยละ 52.42 สรงน้ำพระ

7. บุคคลที่ต้องการรดน้ำขอพรในปีนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 88.77 พ่อแม่/ญาติผู้ใหญ่ อันดับ 2 ร้อยละ 40.30 ครูบาอาจารย์/ผู้มีพระคุณ อันดับ 3 ร้อยละ 37.71 พระสงฆ์

8. กิจกรรมที่คิดว่าควรช่วยกันอนุรักษ์ สืบสานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของไทย อันดับ 1 การทำบุญ ตักบาตร สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัด ก่อพระเจดีย์ทราย เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต อันดับ 2 การรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ อันดับ 3 การเล่นน้ำ สาดน้ำแบบสุภาพเรียบร้อย

นายอิทธิพล กล่าวต่อไปอีกว่า ที่สำคัญประชาชนยังฝากถึงกระทรวงวัฒนธรรมช่วยส่งเสริม อนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ให้ดียิ่งขึ้นนั้น ทาง วธ. พร้อมนำความคิดเห็นนำไปเป็นนโยบายในการสืบสาน รักษา ต่อยอดเทศกาลประเพณีสงกรานต์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของแต่ละจังหวัด เช่น งานประเพณีก่อพระทราย วันไหลบางแสน ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน “บุญเดือนห้า” งานสงกรานต์มอญ งานสงกรานต์พระประแดง เป็นต้น พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อย่างกว้างขวางสู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ

อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกได้รับรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมของไทย “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) เข้าวาระการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ