รมว.สธ. ปิยะสกล เน้น “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อทุกคน ทุกหนทุกแห่ง”

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 71 ณ สหประชาชาติ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ในหัวข้อ “มุ่งมั่นสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อทุกคนมีสุขภาพดี” (Health for All : Committo Universal Health Coverage) เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปฏิญญาอัลมา อตา (Declaration of Alma Ata) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อประชาชนมี “สุขภาพดีถ้วนหน้า” ภายในปี พ.ศ.2543” ประเทศไทยได้ดำเนินการตามปฏิญญานี้ โดยสร้างและพัฒนาระบบสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้ตามสภาวะสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ทศวรรษความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยพิสูจน์ให้นานาชาติเห็นว่า ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวประชากรในระดับปานกลางสามารถสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนได้สำเร็จตั้งแต่พ.ศ. 2545 โดยประสบความสำเร็จทั้ง 3 มิติของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือ 1.ขจัดความยากจนทางการแพทย์ตามเป้าหมายที่ 1 2.การพัฒนาการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตามเป้าหมายที่ 3 และ 3.การขยายเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ ตามเป้าหมายที่ 8, 9 และ 10

ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกสมัยนี้ได้มีการอนุมัติแผนงานและโครงการขององค์การอนามัยโลก ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าของประชากรโลกอีกกว่า 1 พันล้าน ประเทศไทยจึงมีแผนที่จะสนับสนุนงบประมาณแก่องค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.2 ล้านบาท)

การประชุมว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2561ณ เมืองเบลลาจีโอ สาธารณรัฐอิตาลี ได้แนะนำมาตรการ 4 ด้านที่จำเป็นในการขยายการเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าของทั่วโลก คือ 1.มีพันธสัญญาทางการเมืองอย่างยั่งยืน เช่น กำหนดให้วันที่ 12 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลรวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการดำเนินการตามพันธสัญญาให้มีความยั่งยืนเช่นการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2562 และการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในปี 2563 2.ส่งเสริมภาคประชาชนขับเคลื่อนงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกระดับ 3.สร้างระบบสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวได้ตามสาธารณสุขมูลฐานโดยมีหัวใจสำคัญคือกำลังคนด้านสุขภาพที่ควรได้รับการกระตุ้นและเสริมสร้างความเข็มแข็งและ 4.สร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันและเน้นย้ำว่า เป้าหมายของสุขภาพดีถ้วนหน้าคือ ความเสมอภาคทางสุขภาพและการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในทุกมิติ พร้อมทั้งการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหาและความท้าทายทางสุขภาพ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมพิธีลงนามเพื่อขยายเวลาบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.) กับองค์การอนามัยโลก ตามโครงการความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพ ค.ศ. 2018 – 2020 เพื่อส่งเสริมสุขภาพและขยายการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขมูลฐานอันเป็นการสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอื่นๆที่มีรายได้ระดับปานกลางและต่ำด้วยนอกจากนี้ ยังได้พบปะหารือกับผู้นำด้านสาธารณสุขและผู้แทนจากประเทศต่างๆ ดังนี้

1.นายโรแบร์โต มอราลส์ โอเจดา (H.E. Dr. Roberto Morales Ojeda) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐคิวบาโดยไทยยืนยันความพร้อมในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการวิจัยทางการแพทย์ ตามที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันไว้แล้ว

2.นางสิซิลี คาริยูกิ (H.E. Mrs. Sicily Kariuki) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีด้านสุขภาพสาธารณรัฐเคนยา (Cabinet Secretary of Health) โดยเคนยามีความประสงค์จะขอศึกษาและเรียนรู้ประสบการณ์และขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันสุขภาพจากประเทศไทยซึ่งไทยยินดีให้การสนับสนุน

3.นางมิชิโย ทาคากิ (H.E. Ms. Michiyo Takagi) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการประเทศญี่ปุ่น โดยฝ่ายไทยได้ตอบรับเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นในการจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC Forum) โดยจัดคู่ขนานกับการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC) ณ กรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม 2563 ในโอกาสนี้ ไทยได้ขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนไทยในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้อาเซียนเพื่อพัฒนาผู้สูงอายุให้มีสุขภาวะที่ดี (ASEAN Center for Active Ageing and Innovation : ACAI) ซึ่งคาดว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จในปี 2562

4.นายแพทย์เซยิดฮัสซัน ฮาเซมิ (H.E. Dr. Seyed HassanHashemi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและแพทยศาสตรศึกษาสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านแลกเปลี่ยนความเห็นการยกร่างแผนปฏิบัติการภายใต้บันทึกความเข้าใจด้านสาธารณสุขระหว่างสองประเทศซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์หน้าทั้งนี้จะมีการติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการดังกล่าวในระหว่างการประชุม PMAC ในเดือนมกราคม 2562โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอิหร่านจะเข้าร่วมประชุมตามคำเชิญของไทยด้วย นอกจากนี้ นายแพทย์เซยิดฮัสซัน ฮาเซมิได้ขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ได้มีมาตรการแลกเปลี่ยนสารวัตรอาหารและยาทำให้สามารถลดระยะเวลาในการขึ้นทะเบียนยาได้

5.นางฉุย หลี่ (H.E. Mrs. Cui Li) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐประชาชนจีนมีการทบทวนบันทึกความเข้าใจว่าความร่วมมือด้านสาธารณสุข การแพทย์ และเภสัชกรรม ซึ่งจัดทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมอบหมายให้กองการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการภายใน 3 เดือนเพื่อลงนามในการประชุม ASEAN+3 ซึ่งจีนจะเป็นเจ้าภาพจัด ณ มณฑลกวางสี ในปลายเดือนกันยายนนี้และไทยได้ขอให้จีนสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation(ACAI) ในประเทศไทยด้วย

6.นายกัน คิม หย่ง (H.E. Mr. Gan Kim Yong) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ ซึ่งได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยเข้าร่วมการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องเบาหวานสิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดงานระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายนนี้ โดยขอให้ไทยช่วยแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายในการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลที่จะมีผลบังคับใช้ในอีกสองปีข้างหน้า และไทยได้ขอให้สิงคโปร์ช่วยสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ ACAI ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีกำหนดการพบ ดร.พูนาม เคตราปาล ซิงห์ (Dr. Poonam Khethrapal Singh) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก องค์การอนามัยโลกเพื่อพบปะและสอบถามความก้าวหน้าในการดำเนินงานตาม flagship programme ของผู้อำนวยการภูมิภาคฯ เช่นการควบคุมโรคหัดและเชื้อดื้อยา และการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาคเป็นต้น