กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 8 เมษายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ส่งมอบโครงการอาคารบริการน้ำดื่มระบบ RO อัตราการผลิต 250 ลิตร/ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ที่มีคุณภาพดี ณ โรงเรียนหนองแวงวิทยานุกูลบ้านหนองแวง หมู่ 11 ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และทะเลจีนใต้แล้ว ส่งผลทำให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมทะเลอันดามันและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 25,715 ล้าน ลบ.ม. (44%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 21,114 ล้าน ลบ.ม. (44%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,850 ล้าน ลบ.ม. (56%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,751 ล้าน ลบ.ม. (34%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 7,887 ล้าน ลบ.ม. (43%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 21,025 ล้าน ลบ.ม. (44%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 17,250 ล้าน ลบ.ม. (79%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,105 ล้าน ลบ.ม. (83%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ กอนช. ครั้งที่ 1/2566 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 14 หน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้ได้ประเมินสถานการณ์พบว่า สถานการณ์การปลูกพืชฤดูแล้ง ปัจจุบันยังไม่มีการเพาะปลูกเกินแผน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทานได้ขอความร่วมมือไปแต่ละจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ไม่ให้มีการทำนาปรังรอบที่ 2 และได้เน้นย้ำให้ทั้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมชลประทาน ตรวจสอบสถานการณ์ในทุกพื้นที่ รวมถึงให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลคาดการณ์สภาพอากาศ ไปใช้ในการประเมินสถานการณ์น้ำ ทั้งนี้ กอนช. ได้มีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด