นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน ซึ่งประชาชนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือท่องเที่ยวต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ขสมก.
จึงได้จัดแผนการเดินรถโดยสาร รองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน 2566 เพื่ออำนวยความสะดวก ปลอดภัยห่างไกล COVID – 19 สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเดินทาง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ในเส้นทางปกติ จัดรถออกวิ่ง เฉลี่ยวันละ 2,699 คัน จำนวน 16,764 เที่ยว
2. จัดเดินรถ AIRPORT BUS เชื่อมต่อท่าอากาศยาน จำนวน 5 เส้นทาง รวม 49 คัน ดังนี้
– สาย A 1 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สถานีรถไฟฟ้า BTS จตุจักร เฉลี่ยวันละ 16 คัน
– สาย A 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เฉลี่ยวันละ 12 คัน
– สาย A 3 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สวนลุมพินี เฉลี่ยวันละ 8 คัน
– สาย A 4 ท่าอากาศยานดอนเมือง – สนามหลวง เฉลี่ยวันละ 8 คัน
– สาย S 1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – สนามหลวง เฉลี่ยวันละ 5 คัน
3. จัดเดินรถเชื่อมต่อสถานีขนส่งกรุงเทพ จำนวน 5 สถานี รวม 35 เส้นทาง ดังนี้
– สถานีขนส่งกรุงเทพ (จตุจักร) จำนวน 12 เส้นทาง ได้แก่ สาย 3, 16, 49, 77, 96, 134, 136, 138, 145, 509, 517, และ 536
– สถานีขนส่งกรุงเทพ (เอกมัย) จำนวน 8 เส้นทาง ได้แก่ สาย 2, 23, 25, 71, 72, 501, 508 และ 511
– สถานีขนส่งกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ สาย 66, 79, 511, 515, 516 และ 556
– สถานีรถไฟหัวลำโพง จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ สาย 4, 21, 25, 34, 73 และ 501
– สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ สาย 3, 49 และ 67
4. จัดเดินรถให้บริการฟรี เนื่องในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน 2566 สำหรับผู้ใช้บริการที่มีอายุ ตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป โดยผู้สูงอายุจะต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนต่อพนักงานเก็บค่าโดยสาร เพื่อใช้สิทธิบริการฟรี ทั้งรถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศ
มาตรการความปลอดภัย
ด้านพนักงานประจำรถ
1. กำกับดูแลพนักงานขับรถโดยสารให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมทั้ง ให้พนักงานเก็บค่าโดยสาร ดูแลการขึ้น – ลงของผู้ใช้บริการอย่างใกล้ชิด ให้บริการด้วยความสุภาพเรียบร้อย
2. ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ความดันโลหิต และอุณหภูมิร่างกายของพนักงานขับรถ และพนักงานเก็บค่าโดยสารทุกครั้ง ก่อนขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร พร้อมทั้งกำชับพนักงานขับรถและพนักงาน เก็บค่าโดยสาร สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร
3. ให้พนักงานขับรถตรวจสอบความพร้อมของรถโดยสาร และอุปกรณ์ส่วนควบ ก่อนนำรถ ออกให้บริการ ประสานผู้รับเหมาซ่อมรถ ตรวจเช็คสภาพรถโดยสาร และซ่อมบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี
4. จัดพนักงานนายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษประจำจุด ณ ป้ายหยุดรถโดยสาร ที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร และดูแลการขึ้น – ลงรถของผู้ใช้บริการ
ด้านรถโดยสารประจำทาง
1. เพิ่มความถี่ในการล้างทำความสะอาดระบบปรับอากาศ และการทำความสะอาดผ้าม่าน
2. ใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นทำความสะอาด ภายในรถโดยสาร และใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ใช้บริการต้องสัมผัส เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น พร้อมทั้งติดตั้งขวดเจลแอลกอฮอล์ สำหรับให้ผู้ใช้บริการล้างมือบริเวณประตูทางขึ้น
3. ติดตั้งป้ายข้อความ “เหลือรถอีก 2 คันสุดท้าย” “เหลือรถอีก 1 คันสุดท้าย” “รถคันสุดท้าย” บริเวณกระจกด้านหน้ารถโดยสารที่วิ่งให้บริการ 3 คันสุดท้ายในแต่ละวัน
ด้านผู้ใช้บริการ
1. ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ขณะใช้บริการรถโดยสาร
2. ล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ที่ติดตั้งบริเวณประตูทางขึ้น
3. ผู้ใช้บริการจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานเก็บค่าโดยสาร นายตรวจ และเจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษอย่างเคร่งครัด
4. ขอความร่วมมือผู้ใช้บริการ ชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ผ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์
ทุกประเภทของ ขสมก. บัตรเดบิต – เครดิตที่มีสัญลักษณ์คอนแทคเลส บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) เพื่อลดการสัมผัสธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ ที่อาจเป็นสื่อกลางในการแพร่เชื้อโรคฯ
นอกจากนี้ ขสมก. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเดินรถ ได้แก่ ศูนย์วิทยุรัชดา สำนักงานใหญ่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ศูนย์วิทยุเขตการเดินรถที่ 1 – 8 ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน 2566 และจัดเจ้าหน้าที่ Call Center 1348 เพื่อให้บริการด้านข้อมูลข่าวสารในการเดินรถ