กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 7 เมษายน 2566

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ดำเนินการส่งมอบโครงการจัดหาน้ำกินน้ำใช้ (บ่อน้ำตื้น) เพื่อเป็นของขวัญสำหรับประชาชน เทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2566 สร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม และความพึงพอใจให้กับประชาชนในพื้นที่ ณ บ้านอูบมุง ตำบลอูบมุง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

2. สภาพอากาศ

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางแผ่ปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนใต้และประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ในคืนวันที่6 เม.ย. 66 ส่งผลให้ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น และทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง
โดยจะเริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกก่อน

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ

3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 25,865 ล้าน ลบ.ม. (45%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 21,242 ล้าน ลบ.ม. (44%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,873 ล้าน ลบ.ม. (57%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,752 ล้าน ลบ.ม. (35%)

3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 7,946 ล้าน ลบ.ม. (44%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)

4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 21,152 ล้าน ลบ.ม. (45%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 17,119 ล้าน ลบ.ม. (78%)

4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 7,052 ล้าน ลบ.ม. (82%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่พบปะผู้ใช้น้ำจากโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์โครงข่ายน้ำหนองอำปึล ตำบลโชกเหนือ อำเภอลำดวน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวทางบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อให้ผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการลดผลกระทบจากภาวะน้ำแล้งและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าดำเนินการอนุรักษ์ฟื้นฟูหนองอำปึล เพื่อเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ ปัจจุบันสามารถเก็บกักน้ำได้ 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อมาได้ก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้กับกลุ่มเกษตรกรครอบคลุมพื้นที่กว่า 1,900 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์ 1,099 ครัวเรือน