วันที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 13.30 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เรื่อง “การจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” โดยอธิบดี กล่าวว่าวันนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ มาบรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” ประกอบด้วย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) บรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) บรรยายพิเศษ เรื่อง การจัดทำ/พัฒนาผังน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำ และ ดร.รอยล จิตรดอน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) บรรยายพิเศษ เรื่อง ประโยชน์ของผังน้ำ กับการวางแผนชลศาสตร์ ซึ่งจะช่วยเปิดวิสัยทัศน์ ชี้แนะแนวทางที่จะดำเนินกิจกรรมขององค์กร และมีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมี คณะผู้บริหาร ผู้อำนวยการสำนัก/กอง บุคลากรของกรมโยธาธิการและผังเมืองและหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมโครงการ ณ ห้องประชุมนริศรานุสรณ์ ชั้น 11 อาคาร 11 ชั้น กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6
สำหรับโครงการสัมมนาตามศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เรื่อง “การจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ” ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหลักการทรงงานของ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงยึดหลักผลประโยชน์ของปวงชน และการพัฒนาคนเป็นสำคัญ นับเป็นกระบวนการทำงานแบบบูรณาการ และสร้างสรรค์นวัตกรรมจากความเข้าใจ ศึกษาผู้คนด้วยการสังเกต และใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่ใช้ทรงงานผ่านโครงการพระราชดำริ หลาย ๆ โครงการ และด้วยพระอัจฉริยภาพ ในการขจัดความทุกข์ร้อนของราษฎร ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ที่สะท้อนผ่านการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร ตามแนวพระราชดำริ “จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ” หรือแนวคิด “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” โดยมี การบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม ตามความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเสีย น้ำเค็ม และน้ำกร่อย อย่างสมดุลและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวิถีของชุมชน ซึ่งส่งผลให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่พสกนิกรบนแผ่นดินไทย ภายใต้ร่มพระบารมี อย่างร่มเย็น ในทุกมิติอย่างยั่งยืน
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลสภาพความเป็นจริง ทางภูมิประเทศ ทั้งด้านภูมิศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในสังคมวิทยามาจัดทำข้อมูล ในรูปแบบ “ผังภูมิสังคม”ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในพื้นที่มาบูรณาการ โดยใช้กลไกการบริการราชการ ของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชน และ 7 ภาคีเครือข่าย ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,086 หมู่บ้าน
และนำข้อมูล “ผังภูมิสังคม” มาประมวลผลร่วมกับข้อมูล ด้านการบริหารจัดการน้ำในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ GIS ในการวิเคราะห์เพื่อวางแผนและเสนอโครงการจัดการทรัพยากรน้ำ และลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินงานเพื่อแก้ไขให้ประชน มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำ “ผังภูมิสังคม” ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ และคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566