กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 เมษายน 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ณ บ้านหนองนกหอ หมู่ที่ 2 ตำบลดงมะยาง อำเภอลืออำนาจ จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคของประชาชน เนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปามีปริมาณน้ำน้อย ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน สามารถสูบน้ำได้ 24,000 ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 189 ครัวเรือน
2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมตะวันตกเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 26,169 ล้าน ลบ.ม. (45%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 21,508 ล้าน ลบ.ม. (45%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,907 ล้าน ลบ.ม. (57%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 1,754 ล้าน ลบ.ม. (35%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,058 ล้าน ลบ.ม. (44%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วันที่ 4 เมษายน 2566 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีร่วมกับประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อเตรียมการสําหรับการประชุมสุดยอดผู้นําลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติลาว เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีร่วมกับประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “มุมมองในการเสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือ” รวมถึงประชุมหารือและแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “มุมมองในการเสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือ” ร่วมกับรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิก และหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไม่เพียงแค่การพัฒนาความร่วมมือเฉพาะ 4 ชาติ สมาชิกแม่น้ำโขงตอนล่างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนการพัฒนาต่อแนวความร่วมมือของ MRC เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้ และการประยุกต์สําหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงร่วมกับลุ่มน้ำนานาชาติอื่นๆ อีกด้วย