ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.สงขลา (79 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (41 มม.) และ จ.พัทลุง (30 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 26,320 ล้าน ลบ.ม. (45%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 21,526 ล้าน ลบ.ม. (45%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ เข้าดำเนินการช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง สูบน้ำจากแหล่งน้ำสำรองไปเติมให้กับแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อผลิตน้ำประปา ณ บ้านหนองนกหอ หมู่ที่ 2 ต.ดงมะยาง อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคของประชาชน เนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปามีปริมาณน้ำน้อย ไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน สามารถสูบน้ำได้ 24,000 ลบ.ม.ได้รับประโยชน์ 189 ครัวเรือน 788 คน และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่อง
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นห่วงสถานการณ์น้ำโขง สั่งการ เลขาธิการ สทนช.ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรี 4 ชาติสมาชิก ยืนยันท่าทีไทยพร้อมปกป้องทุกทรัพยากรในแม่น้ำโขงให้เกิดความยั่งยืน
วันที่ 4 เมษายน 2566 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีร่วมกับประเทศคู่เจรจา หุ้นส่วนการพัฒนา และพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเตรียมการสําหรับการประชุมสุดยอดผู้นําลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ตามที่ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีร่วมกับประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ โดยได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “มุมมองในการเสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือ” รวมถึงประชุมหารือและแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “มุมมองในการเสริมสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือ” ซึ่งประเทศไทยได้เน้นย้ำในการพัฒนาความร่วมมือที่มีอยู่ใน 4 แนวทางหลัก คือ 1) ความร่วมมือในการพัฒนาการบริหารจัดการ ต้องมีการทบทวนระเบียบวิธีปฏิบัติอยู่เสมอและปรับปรุงแก้ไขเมื่อจำเป็นให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาของมนุษย์ 2) เพิ่มความเชื่อมั่นในการสร้างความร่วมมือด้วยข้อมูลที่เป็นพื้นฐานจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับองค์ความรู้ รวมถึงการจัดการฐานข้อมูลและสารสนเทศให้มีความชัดเจนและแม่นยำในการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง 3) การให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างถูกต้องชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางริมแม่น้ำ และ 4) การสร้างความร่วมมือและยกระดับนวัตกรรม เช่น การขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ ศึกษาการจัดตั้งกองทุนแม่น้ำโขง ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการที่มุ่งสู่การจัดทำมาตรการลดผลกระทบให้กับประชาชนริมแม่น้ำโขงของกลุ่มประเทศสมาชิกได้