วันที่ 4 เมษายน 2566 เวลา 09.00 น. พล.อ.อ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม จิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เนื่องในวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 31 มีนาคม 2566 วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 เมษายน 2566 และวันจักรี 6 เมษายน 2566
โดยมี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นผู้กล่าวรายงานถึงโครงการฝึกอบรมกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เพื่อให้บุคลากรของกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้มีความรู้ความเข้าใจนำไปสู่การปฎิบัติช่วยบรรเทาและช่วยชีวิตผู้อื่น
ซึ่งประกอบไปด้วย การบรรยาย เรื่อง “การใช้ชีวิตให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมในสังคมปัจจุบัน” โดย พ.ต.อ. จตุรวิทย์ คชน่วม รองผู้บังคับการตำรวจรถไฟ เป็นวิทยากรบรรยาย และการฝึกอบรม “การกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (Basic CPR : Cardio Pulmonary Resuscitation) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือเครื่องเออีดี (Automated External Defibrillator : AED)” โดย พล.อ.อ. สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในพระองค์ 904 รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นวิทยากรหลัก ร่วมด้วยทีมวิทยากรจิตอาสา จากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 จำนวน 45 คน และวิทยากรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 6 คน ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรมประกอบด้วย นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนัก/กอง ข้าราชการ พนักงานราชการ แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย ร่วมกิจกรรม 220 คน ณ ห้องประชุมนริศรานุสรณ์ ชั้น 11 อาคาร 11 ชั้น และห้องประชุม 501 กรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6
โครงการฝึกอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ให้มีความพร้อมในการเป็น “ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น” โดยสามารถทำการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และสามารถใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ได้ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล สามารถช่วยเหลือผู้อื่นในภาวะฉุกเฉินได้ถูกต้องและทันท่วงที ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ทั้งนี้เซลล์ในร่างกายสามารถทนต่อการขาดเลือดและออกซิเจนได้เพียง 4 นาที โดยเฉพาะสมองซึ่งเป็นอวัยวะส่วนสำคัญหากช่วยเหลือล่าช้า โอกาสรอดชีวิตจะลดลงทุกๆ 7% – 10% ของแต่ละนาทีที่ผ่านไป ภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันนี้ ถ้าเกิดนอกโรงพยาบาล ผู้ประสบเหตุคนแรก ควรมีความรู้ที่ถูกต้อง ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันที ทำให้ผู้หมดสติมีโอกาสรอดชีวิตและกลับมามีชีวิตเป็นปกติได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น การที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดให้มีโครงการฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนี้ จึงเป็นการฝึกอบรมที่ดีและมีประโยชน์อย่างยิ่ง โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับความรู้และทักษะการช่วยชีวิตที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถใช้อุปกรณ์สำหรับการช่วยชีวิตได้ โดยเฉพาะการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า AED ซึ่งไม่เพียงจะบังเกิดผลแต่เฉพาะภายในหน่วยงานเท่านั้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งจะได้รับความรู้ที่ถูกต้อง จะสามารถนำความรู้นั้นไปช่วยเหลือคนในครอบครัว และผู้อื่นในสังคมได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการจิตอาสาพระราชทาน ฯ
หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ผู้เข้ารับการฝึกฯ จะต้องทำแบบทดสอบและผ่านเกณฑ์การประเมินภาคปฎิบัติในระบบแอพพลิเคชั่น จึงจะได้รับเกียรติบัตรจากศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานต่อไป