กรมประมง จับมือ ม.ขอนแก่น ลงนาม MOU ร่วมพัฒนางานวิจัยด้านการประมงไทยให้ก้าวไกลสู่สากล

วันที่ 3 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. ณ ห้องสารสิน ตึกสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วย การพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการ ระหว่าง กรมประมงกับ หาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการวิจัย พัฒนาด้านการประมงไทยให้ครบวงจร โดยมีคณะผู้บริหารจากทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า…กรมประมง ในฐานะหน่วยงานของรัฐ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ทำการศึกษา ค้นคว้า สำรวจ วิจัย วิเคราะห์ และทดลอง​ทุกสาขาวิชา​ ด้านการประมง ตลอดจนทำการส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวกับการประมงของประเทศให้เจริญก้าวหน้า ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม​ด้าน​การพัฒนาการประมง ให้ทันตามกระแสต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน จึงเป็นที่มาในการทำบันทึก​ความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิขาการร่วมกันกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม​ และสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยด้านการประมงแบบครบวงจร และเพิ่มศักยภาพบุคลากร ทั้งด้านวิชาการ ด้านการวิจัย และด้านการบริการวิชาการ เพื่อผลักดันและส่งเสริมการดำเนินงานในการพัฒนา​ด้านการวิจัย​และวิชาการประมงให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล รวมถึงนำองค์ความรู้ที่ได้จากการร่วมมือ​ระหว่างกัน​ ไปถ่ายทอด​แก่เกษตรกรให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เป็นการสร้างรายได้และอาชีพ​ให้เกิดความ​มั่นคงต่อไป

ด้านรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า…รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ​ร่วมกับกรมประมง​ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการซึ่งเป็นแนวทางที่จะดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกัน ในการพัฒนา​​และเพิ่มศักยภาพภาคประมงให้มีความเข็มแข็งและสร้างประโยชน์สู่เกษตรกรของประเทศ​ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พร้อมให้บริการเพื่อสังคม และประสานผลประโยชน์​ ในการพัฒนา ​เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ในงานพิธีลงนามยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในระบบประมงน้ำน้อยอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย นวัตกรรมด้านการประมงที่น่าสนใจ อาทิ  การเลี้ยงกบร่วมกับปลา การเลี้ยงกุ้งขาวความเค็มต่ำในระบบน้ำหมุนเวียน (RAS) เป็นต้น

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า…กรมประมง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงนามฯ​ ในครั้งนี้ ​จะนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและการพัฒนาอย่างยั่งยืน กรมประมง พร้อมให้ความร่วมมือในทุกด้าน ทั้งการสนับสนุนถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมถึงการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านการประมง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการประมง​​ของไทย​สืบไป