สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 3 เม.ย. 66

ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.นครพนม (98 มม.) จ.สงขลา (92 มม.) และ จ.นราธิวาส (84 มม.)

น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 26,480 ล้าน ลบ.ม. (46%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 21,830 ล้าน ลบ.ม. (46%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

กอนช. ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูแล้งปี 2566

ด้วยรัฐบาลมีนโยบายให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยสถานการณ์น้ำแล้งในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ กอนช. จึงได้ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำก่อนสิ้นสุดฤดูแล้งปี 2566

สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (วันที่ 2 เม.ย.66) มีปริมาณน้ำ 48,375 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 63% เป็นน้ำใช้การ 24,433 ล้าน ลบ.ม. โดยใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวม 14,864 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 60% เป็นน้ำใช้การ 8,168 ล้าน ลบ.ม. โดยกรมชลประทานวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 10.42 ล้านไร่ ปัจจุบัน (วันที่ 2 เม.ย.66) ดำเนินการเพาะปลูกไปแล้ว 10.14 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 97% ของแผนฯ และในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง 6.64 ล้านไร่ ดำเนินการเพาะปลูกไปแล้ว 6.37 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 96% ของแผนฯ

ทั้งนี้ กอนช. ย้ำให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้ พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งวางแผนบริหารความเสี่ยง รองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้า