พม. จัดกิจกรรม Gender Fair 2023 ปลุกกระแสสังคม สร้างพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

วันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 17.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Gender Fair 2023 : สานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ภายใต้แนวคิด Innovation for Gender Equality : ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ และมอบประกาศเกียรติคุณแก่ 17 องค์กร ที่มีความมุ่งมั่นในการนำแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศไปใช้ในการบริหารจัดการองค์กรและการประกอบกิจการ และร่วมสื่อสารให้ประชาชนตระหนักเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่านช่องทางต่างๆ โดยมี นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวง พม. และเอกอัครราชทูต ผู้แทนสถานทูตประจำประเทศไทย ผู้บริหาร UN Women UNFPA สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน ณ ลานหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 300 คน

นายอนุกูล ปลัด พม. กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังทั้งในระดับสากลและภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจด้านการส่งเสริมบทบาทของสตรีและการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศผ่านการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน และเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ในปัจจุบันประเทศไทยมีการขับเคลื่อนความเท่าเทียมระหว่างเพศในหลากหลายมิติ เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับโครงสร้าง มาตรการและกลไกผลักดันแนวปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิ ยอมรับคุณค่าและศักยภาพที่แตกต่างหลากหลายทางเพศ และปัจจุบันมีองค์กรภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง ที่ตระหนักถึงความสำคัญของความเท่าเทียมระหว่างเพศ และได้นำแนวคิดความเท่าเทียมระหว่างเพศดังกล่าวไปกำหนดเป็นนโยบายการดำเนินงาน และการประกอบกิจการ ที่สามารถหนุนเสริม เป้าหมายองค์กรควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน ลูกค้า และประชาชน อย่างเช่น องค์กรภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาทั้ง 17 แห่งที่ได้รับรางวัลในวันนี้ ต้องขอชื่นชมและถือเป็นตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนให้องค์กรอื่นๆ รวมถึงสังคมและประชาชนเห็นว่าทุกภาคส่วนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและล้วนได้รับประโยชน์จากการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศร่วมกันได้

สำหรับกิจกรรมสานพลังเครือข่ายร่วมขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ : Gender Fair 2023 ในปีนี้ ได้ชูแนวคิด “Innovation for Gender Equality : ส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ” เพราะเราตระหนักดีว่าทุกภาคส่วนของสังคมมีหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกัน และนวัตกรรมในทุกมิติควรหนุนเสริมให้เกิดการสร้างและส่งต่อสังคมที่เอื้อให้บุคคลทุกคนได้รับสิทธิ โอกาสอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และต้องขอขอบคุณ UN Women ที่เป็นส่วนร่วมผลักดันให้เกิดกิจกรรมในครั้งนี้ รวมทั้งภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เป็นพลังสำคัญสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมต่างๆ มากมายในวันนี้ ปลัด พม. กล่าว

ด้านนางจินตนา อธิบดี สค. กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นสร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติของประชาชน เพื่อนำไปสู่สังคมที่เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ สำหรับกิจกรรม Gender Fair สค. ได้จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี 2565 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีและสามารถจุดกระแสสังคมเป็นวงกว้าง จึงจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับความร่วมมือ โดยปีนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้ภาคีเครือข่ายนำเสนอแนวคิดการดำเนินงานที่เคารพความแตกต่างหลากหลายทางเพศ รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นทางสังคมเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และที่สำคัญการมอบประกาศเกียรติคุณเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติหน่วยงาน องค์กรตัวอย่างซึ่งมีนโยบายดำเนินงานหรือประกอบกิจการโดยคำนึงถึงความเท่าเทียมระหว่างเพศ 17 หน่วยงาน ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 2. คลินิกสุขภาพเพศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง 5. มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน 6. โครงการยังฝัน (YOUNGFUN) 7. WENDAYS และ Talk to PEACH 8. บริษัท สเปซ เกมเมอร์ จำกัด 9. บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 10. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 11. บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 12. บริษัท ตาชำนิ จำกัด (มหาชน) SPECTRUM 13. TikTok 14. บริษัท ดีเอชแอล ซัพพลายเชน (ประเทศไทย) จำกัด 15. บริษัท ทิฟฟานีโชว์ พัทยา จำกัด 16. บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด และ 17. บริษัท ศรีจันทร์ สหโอสถ จำกัด

กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน ประกอบด้วย Flash mob ภายใต้แนวคิด “Gender Equality for All” โดยมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนมัธยมบ้านบางกะปิ และ Gender Talk มุมมองความเท่าเทียม โดยเหล่าดารานักแสดงชื่อดัง อาทิ คุณปอย ตรีชฎา เพชรรัตน์ ,คุณอั๋น ภูวนาท คุณผลิน, คุณอิสเบลลา เมนิน มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2022, คุณไฮดี้ อแมนด้า เจนเซ่น รองอันดับ 1 มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2022, คุณหนูดี อรปรียา เนซ่า มามูดี้ รองอันดับ 3 มิสแกรนด์ ไทยแลนด์ 2022 รวมถึงการแสดงแฟชั่นโชว์ I Just Dress Not Just a Fashion โดย คุณซินดี้ สิรินยา ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ การแสดงทิฟฟานี่โชว์สุดอลังการ นำโดย คุณกวางอริสรา การกล้า Miss Tiffany 2022 ตลอดจนมินิคอนเสิร์ตจาก ANGLE (แองจี้ ฐิตาชา) เรียกว่าเต็มอิ่มกับความสุขจากภาคีเครือข่ายที่พร้อมใจร่วมแสดงพลังแห่งความเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการนำเสนอผลงานจาก 17 องค์กรตัวอย่างที่ได้รับรางวัล การจำหน่ายสินค้าคุณภาพและบริการที่หลากหลายจากหน่วยงานและเครือข่ายส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ บูธให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพเพศ จากคลินิกสุขภาพเพศ โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เมื่อสังคมเปิดกว้างให้คุณมีโอกาสขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หยุดความเลื่อมล้ำ ความรุนแรงระหว่างเพศได้ อย่าพลาดร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่จะสามารถแสดงพลังสร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมยุคเท่าเทียม นางจินตนา กล่าวในตอนท้าย

#EqualityForAll #GenderFair2023 #พลังแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ