รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 เมษายน 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 เมษายน 2566 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กองบัญชาการกองทัพไทย จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วย รยบ.บรรทุกน้ำ ขนาด 9,000 ลิตร จำนวน 1 คัน ดำเนินการแจกจ่ายน้ำอุปโภค ปริมาณน้ำ 9,000 ลิตร ให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ณ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี

2. สภาพอากาศ
ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีอากาศร้อนจัดบางแห่งในภาคเหนือ และภาคกลาง ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และตะวันออก สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 28,165 ล้าน ลบ.ม. (49%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 22,047 ล้าน ลบ.ม. (46%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 2,985 ล้าน ลบ.ม. (59%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,132 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,276 ล้าน ลบ.ม. (46%)

4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วันที่ 31 มีนาคม 2566 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการดำเนินการโครงการด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและแผนการผลิตน้ำประปาเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และได้ลงพื้นที่ประชุมติดตามแผนงานและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 และวางแผนการพัฒนาแหล่งน้ำให้เต็มศักยภาพ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และรองรับความต้องการน้ำในอนาคต รวมทั้งการผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการของประชาชน