กรมการข้าว ขอความร่วมมือ สมาชิกศูนย์ข้าวฯ สมาชิกนาแปลงใหญ่ ชาวนาอาสา เป็นสื่อกลาง รณรงค์ลดการเผา

นายณัฎฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับมลพิษทางอากาศที่มีอันตรายต่อสุขภาพ คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ที่มีสาเหตุมาจากควันท่อไอเสียจากรถยนต์ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าบางส่วนมาจากการเผาพื้นที่ทำกินในการทำการเกษตร ที่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเช่นกัน

นอกจากนั้นยังส่งผลต่อชั้นบรรยากาศจากการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผา ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และเกิดปัญหาค่ามลพิษทางอากาศ โดยมีฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในการดำเนินชีวิตและมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในหลายจังหวัด

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อไปว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน และเกษตรกรที่ประสบปัญหากับค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน จนเกิดผลกระทบกับสุขภาพและการดำรงชีวิตประจำวัน โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ภายในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมรณรงค์และขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนลดการเผาในช่วงระยะเวลานี้

โดยในส่วนของกรมการข้าวได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ ขอความร่วมมือสมาชิกนาแปลงใหญ่ สมาชิกศูนย์ข้าวชุมชน กลุ่มชาวนา และชาวนาอาสา ช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกและชุมชนลดการเผาพื้นที่ทำกิน เพื่อเป็นการลดปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 ที่สูงเกินมาตรฐานในขณะนี้

นอกจากนี้ กรมการข้าว โดยสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ได้เข้ามาส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนา ซึ่งจะส่งเสริมและสร้างการรับรู้ถึงข้อดีและประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากการสร้างคาร์บอนเครดิต โดยได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมาถ่ายทอดให้กับชาวนา โดยเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะเข้ามาใช้ในการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Levelling) ที่จะช่วยให้การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้นจะช่วยลดก๊าซมีเทนในดินที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ นอกจากนั้นหลังการเก็บเกี่ยวกรมการข้าวยังตั้งเป้าในการรณรงค์ให้ชาวนาลดการเผาตอซังข้าว ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสร้างคาร์บอนเครดิตให้ชาวนานำไปสร้างรายได้เสริมได้