คกก.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฯ เห็นชอบ 5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เน้นป้องกันกลุ่มเด็กและเยาวชน

คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ มีมติเห็นชอบ 5 มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เน้นป้องกันเด็ก เยาวชน ประชาชนทุกคน ไม่ให้เสพติดและได้รับพิษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า

วันที่ 29 มีนาคม 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ ปลัดกระทรวงหรือผู้แทนปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสสส. เข้าร่วมประชุม

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 78,7 42 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่กำลังเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าว ที่ประชุมจึงมีการพิจารณามาตรการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และมีมติเห็นชอบ 5 มาตรการ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ได้รับพิษภัยจากผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ได้แก่ 1.การพัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2.การสร้างความตระหนัก/รับรู้โทษ พิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน รวมถึงสาธารณชน 3.การเฝ้าระวังและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4.การพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และ 5.การยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการ 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้านติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2.ด้านบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้เสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้ผลักดันยาเลิกบุหรี่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ส่วนการบำบัดรักษาและการติดตามผลการบำบัดผู้มีภาวะติดนิโคติน ได้ทำแนวทางให้กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่นำไปดำเนินการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างต้นแบบชุมชนเป็นฐานในการคัดกรองและการส่งต่อ 3.ด้านกฎหมาย และ 4.ด้านการเร่งรัดติดตามการดำเนินงานคดีการกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

โดยล่าสุด มีคดีที่อยู่ในขั้นพนักงานสอบสวน 72 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 35 คดี เปรียบเทียบ/คดีสิ้นสุด 37 คดี ส่วนการเฝ้าระวังในช่องทางออนไลน์ โดยกรมควบคุมโรค พบ 212 ราย อยู่ระหว่างการสืบสวน 118 ราย และปิดการใช้งานแล้ว 94 ราย สำหรับการดำเนินคดีเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า (ข้อมูลระหว่างเดือนกันยายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566) เป็นคดีที่มีการร้องทุกข์ กล่าวโทษ/ตรวจพบโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 435 คดี