กรมทะเลและชายฝั่ง นำเทคโนโลยีสุดล้ำช่วยยกระดับการปฏิบัติภารกิจ ด้านสำรวจ ติดตาม เฝ้าระวัง “เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เพิ่มจำนวนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง”

วันที่ 29 มีนาคม 2566 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับมอบเทคโนโลยีสำรวจติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม กลุ่มประชากรไกลฝั่ง เพื่อนำมายกระดับการปฏิบัติภารกิจในด้านการคุ้มครอง อนุรักษ์ สำรวจ ประเมินและฟื้นฟู ปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเลหายากให้เกิดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล เพื่อให้สามารถดำรงศักยภาพเป็นแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งช่วยเกื้อหนุนต่อการประมง และการท่องเที่ยว ตลอดจนรักษา คุ้มครองระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งพืชและสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลอันเกิดจากการกระทำความผิดต่อทรัพยากรทางทะเล และสถานการณ์สัตว์ทะเลหายากเกยตื้น ส่งผลให้พืชและสัตว์ทะเลหายากมีปริมาณที่ลดน้อยลงและพบได้ยากขึ้น ถ้าหากไม่ได้รับการติดตามเฝ้าระวัง คุ้มครองและฟื้นฟูอย่างใกล้ชิดก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์ทะเลหายากที่นับว่าเป็นทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดความเสียหายกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของประเทศอย่างต่อเนื่อง

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวว่า กรมฯ ได้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้สำรวจ ติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มประชากรไกลฝั่งเพื่อใช้ติดตามสถานภาพ และเฝ้าระวังการสูญเสียทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมไปถึงการศึกษาพฤติกรรมและถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหายากกลุ่มที่มีการอพยพย้ายถิ่นระหว่างทางไกลเป็นประจำทุกปี เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ให้เกิดการเพิ่มจำนวนของสัตว์ทะเลต่างๆ รวมทั้งกลุ่มที่ได้รับการประกาศเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์คุ้มครองและ หายากในน่านน้ำประเทศไทย อาทิ โลมาอิรวดี โลมาปากขวด โลมาหลังโหนก วาฬบรูด้า และพะยูน เป็นต้น ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและประสิทธิผลของฐานข้อมูลสำคัญ กรม ทช. จึงเห็นประโยชน์ในการนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับรวมทั้งเทคโนโลยีของระบบฐานข้อมูลที่ทันสมัยเข้ามาเป็นเครื่องมือการทำงานด้านการอนุรักษ์ การบริหารจัดการสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม การเฝ้าระวัง รวมถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ป่าชายเลน และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การรับมอบเทคโนโลยีฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “ทส. ยกกำลัง เอ็กซ์” ที่ให้พร้อมปรับตัวภายใต้วิถียุคใหม่ New Normal เพื่อก้าวสู่ระบบดิจิทัลที่ทันสมัยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานรูปแบบใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตราย

นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมฯ ได้รับมอบเทคโนโลยีสำรวจติดตามและประเมินจำนวนสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 10 รายการ เพื่อนำมาพัฒนาการปฏิบัติภารกิจด้านการสำรวจ และติดตาม เพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ให้เกิดการเพิ่มจำนวนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมากยิ่งขึ้น อาทิ อากาศยานไร้คนขับเป็นแบบปีกตรึง ขึ้นลงทางดิ่ง (VTOL:Vertical Takeoff and Landing) ที่สามารถปฏิบัติงานการบิน ความเร็วได้ไม่น้อยกว่า 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และสามารถปฏิบัติการบินภารกิจได้อย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 120 นาทีต่อเที่ยวบิน อีกทั้งมีคุณสมบัติของกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงที่ติดตั้งมาพร้อมกับอากาศยานไร้คนขับ และมีประสิทธิภาพรองรับการ ขึ้นบิน (Takeoff) จากระดับความสูงพื้นดินได้สูงสุด 4,500 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (Mean Sea Level) สามารถกำหนดเส้นทางบินโดยอัตโนมัติแบบกำหนดแนวบินด้วยรูปแบบพื้นที่รูปปิด (Polygon) และแนวเส้นการบิน (Polyline) ได้เป็นอย่างน้อย พร้อมทั้งสามารถนำข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศที่ได้ไปประมวลผลต่อเพื่อให้ออกมาเป็นภาพถ่าย Orthophoto (2 มิติ) ซึ่งครั้งนี้กรมฯ ส่งมอบให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทางทะเลอันดามันตอนบน และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทางทะเลอันดามันตอนล่าง นำไปปฏิบัติภารกิจต่อไป